สภาพัฒน์ฯคาด อีก20ปี ไทยจะมีผู้สูงอายุพุ่งถึง 31 เปอร์เซ็นต์ อัตราส่วนการพึ่งพิงมากกว่าครึ่งของวัยแรงงาน ขณะที่รัฐบาลยก “วาระสูงอายุ” เป็นวาระแห่งชาติ เน้นให้คนแก่ มีงานทำ มีเงินออม สุขภาพดี อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี
ในอีก 20 ปีข้างหน้า สัดส่วนผู้สูงอายุของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 31.28 เปอร์เซ็นต์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 18 เปอร์เซ็นต์ตัวเลขนี้เป็นการรายงานการประมาณการประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553-2583 ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานต่อคณะรัฐมนตรีโดยพบว่าประชากรของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 66.5 ล้านคนในปี 2563 เป็น 67.2 ล้านคนในปี 2571 หลังจากนั้นจำนวนประชากรจะลดลงในอัตรา -0.2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
ทำให้ในปี 2583 จะมีประชากรทั้งหมดประมาณ 65.4 ล้านคนประชากรวัยเด็ก (แรกเกิด – 14 ปี) มีแนวโน้มลดลง โดยในปี 2563 จำนวนประชากรเด็ก 11.2 ล้านคน คิดเป็น 16.9 เปอร์เซ็นต์ ลดลงเป็น 8.4 ล้านคน คิดเป็น 12.8 เปอร์เซ็นต์
ส่วนสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ในปี 2563 มีจำนวน 12 ล้านคน คิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มเป็น 20.42 ล้านคน คิดเป็น 31.28 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2583 ขณะที่ประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) มีแนวโน้มลดลงจาก 43.26 ล้านคน หรือ 65 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2563 เป็น 36.5 ล้านคน หรือ 56 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2583
โดยอัตราส่วนของวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ในปี 2563 มีวัยแรงงาน 3.6 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน ลดลงเหลือวัยแรงงาน 1.8 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คนในปี 2583 ส่งผลให้อัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มขึ้นจาก 27.7 ต่อวัยแรงงาน 100 คนในปี 2563 เป็น 56.2 ต่อวัยแรงงาน 100 คนในปี 2583
ขณะที่โครงสร้างอายุของประชากรแต่ละภูมิภาคในปี 2583 กรุงเทพฯ มีสัดส่วนประชากรวัยแรงงานมากที่สุด ส่วนภาคเหนือมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากที่สุด และภาคใต้จะมีสัดส่วนประชากรวัยเด็กสูงกว่าภาคอื่นๆ
สถิติเหล่านี้นำไปสู่การกำหนดวาระผู้สูงอายุให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยน.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้กำหนดให้วาระผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการผู้สูงอายุแห่งชาติครอบคลุมทั้งกลุ่มก่อนวัยสูงอายุ (25-59 ปี) และผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป)
สำหรับกลุ่มก่อนวัยสูงอายุ รัฐบาลมีแผนส่งเสริมเน้นเรื่องการออม การไม่มองผู้สูงอายุเป็นภาระ วิธีการดูแลผู้สูงอายุ และการปรับสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับสภาพผู้สูงอายุ
ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุได้มีการจัดทำแผนการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวที่ครอบคลุมจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงมากขึ้น เน้นการเสริมทักษะใหม่แก่แรงงานผู้สูงอายุ การออกแบบการทำงานให้ยืดหยุ่นและสร้างแรงจูงใจให้นายจ้างที่จ้างผู้สูงอายุ ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกิจกรรม CSR ภาคประชาชนในการสร้างงานผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบ
พร้อมทั้งจัดทำแผนบูรณาการด้านสุขภาพ โดยมีเป้าหมายให้ผู้สูงอายุได้รับการตรวจ ป้องกัน และดูแลสุขภาพระยะยาวที่บ้านและในชุมชนตามระดับความจำเป็น สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีระบบการเงินการคลังที่ยั่งยืนในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง