เผยสถิติ ผู้สูงวัย อายุ 80ปีขึ้นไป ฟันหายทั้งปากกว่า 31 เปอร์เซ็นต์

เผยสถิติ ผู้สูงวัย อายุ 80ปีขึ้นไป ฟันหายทั้งปากกว่า 31 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุหลักมาจากฟันผุ-เหงือกอักเสบ ด้าน “มส.ผส.-สสส.” จับมือบรรจุประเด็น “สุขภาพช่องปาก” ในแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 3 หวัง มีให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี 

ผลสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากประเทศไทยปี 2560 พบว่าผู้สูงอายุวัย 60-75 ปี สูญเสียฟันทั้งปากร้อยละ 8.7 และเพิ่มเป็นร้อยละ 31 ในวัย 80-85 ปี โดยสาเหตุหลักมาจากโรคฟันผุและโรคปริทันต์

ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวม และคุณภาพชีวิต ของผู้สูงอายุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการมีสุขภาพช่องปากและฟันที่ไม่ดี จะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกไม่สบาย เจ็บปวด มีกลิ่นปาก ไม่สามารถกินอาหารได้ตามปกติ และทำให้ไม่ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยเฉพาะปัญหาปอดติดเชื้อจากการสำลัก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

ดังนั้นการดูแลช่องปากอย่างดีจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุขและส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวม

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) จึงร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)  สนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้และข้อเสนอเชิงนโยบายประกอบการจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 3 โดยประเด็นสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุไทยเป็นหนึ่งในข้อเสนอสำคัญ ที่จะเสนอให้บรรจุไว้ในแผนผู้สูงอายุแห่งชาติที่เป็นแผนระยะ 20 ปี ซึ่งจะเริ่มในปี 2566

แม้ในปัจจุบันประเด็นสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุไทย จะอยู่ในแผนฯ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2545-2564 แล้ว แต่ประเด็นสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุยังไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากนัก

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานสสส. กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมในมิติต่างๆ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ มีการดูแลสร้างเสริมให้มีผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดี เป็นผู้สูงอายุที่แข็งแรง โดยเฉพาะประเด็นสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ ซึ่งยังคงเป็นประเด็นที่สังคมและผู้สูงอายุมองข้าม แม้ว่าผู้สูงอายุจะมีสิทธิ์รับบริการด้านสุขภาพช่องปาก ทั้งด้านส่งเสริมป้องกัน รักษา และฟื้นฟู แต่ปัญหาคือผู้สูงอายุไม่สามารถเข้าถึงบริการ เพราะเดินทางลำบาก ไม่มีคนพาไป และต้องรอคิวที่ยาวนาน

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา มส.ผส. และ สสส. ได้ร่วมกันจัดทำคู่มือการดูแลผู้สูงวัย ช่องปากสุขี สำหรับผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (care manager) ระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน เพื่อให้ทราบถึงวิธีการดูแลช่องปากของผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านกับกลุ่มติดเตียงซึ่งต่างมีเงื่อนไขเฉพาะตัว และสามารถเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมในการดูแลผู้สูงอายุแต่ละกลุ่ม

ด้าน ทพญ.ชื่นตา วิชชาวุธ นักวิจัยอิสระ เสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อให้ผู้สูงวัยฟันดี 20 ซี่ ในวัย 80 ปี ดังนี้

1.เร่งผลิตทันตาภิบาล/นักวิชาการสาธารณสุขด้านทันตสาธารณสุข ลงไปในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพิ่มปีละกว่า 1,500 คน เพื่อให้มีจำนวนเพียงพอในระดับตำบล

2.เพิ่มการเข้าถึงบริการโดยระบบบริการรัฐร่วมเอกชน ให้ผู้สูงอายุรับบริการจากคลินิกได้ตามสิทธิที่ยังขาดการบริการ ได้แก่ อุด ขูด ถอน ใส่ฟันเทียม รากฟันเทียม โดยไม่ต้องร่วมจ่าย

3.ทันตแพทยสภา กระทรวงอุดมศึกษาวิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุข พัฒนาหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต และสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต ในเรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุโดยเฉพาะ

4.กระทรวงสาธารณสุของค์กรปกครองท้องถิ่นรวมถึงกรุงเทพมหานครพัฒนาระบบบริการทันตกรรมสำหรับผู้สูงอายุทุกกลุ่มตั้งแต่บริการทันตสาธารณะสุขในชุมชนที่สามารถค้นหาภาวะผิดปกติและส่งต่อไปยังระบบที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างชุมชนไปยังรพ.สต., โรงพยาบาลชุมชนโรงพยาบาลทั่วไปโรงพยาบาลศูนย์เป็นเครือข่ายบริการปฐมภูมิที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และ5.กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอุดมศึกษาวิจัยและนวัตกรรมสนับสนุนงบประมาณเพื่อประเมินผลติดตามสถานการณ์เรื่องทันตสุขภาพของประชาชนไทยกลุ่มต่างๆทุก 2 ปีเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันในการวางแผนการดำเนินงานพัฒนาระบบบริการทันตสุขภาพ โดยหวังว่าจะช่วยให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพปากและฟันที่ดี เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ