เผย งานวิจัยมส.ผส. พบ ผู้สูงอายุเกือบครึ่ง ยังหวังพึ่งพาลูกหลานเลี้ยงดู ขณะที่มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ไม่มั่นใจว่ามีเงินออมเพียงพอสำหรับในอนาคต
จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 มีผู้สูงอายุ 12 ล้านคน และในอีก 20 ปีข้างหน้าหรือปี 2583 ผู้สูงอายุจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 20.42 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 31.28 ของจำนวนประชากรทั้งหมด แต่จำนวนผู้สูงวัยเหล่านี้จะมีผู้ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่จะดูแลตัวเองได้มากน้อยเพียงใด ด้วยเหตุนี้มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) จึงสนับสนุนให้มีการวิจัยในประเด็นดังกล่าว
โจทย์ที่นักวิจัยได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของผู้สูงอายุมี 2 ประเด็น คือ ผู้สูงอายุมีการจัดการทรัพย์สินอย่างไร และ ผู้สูงอายุมีความต้องการทางเลือกในการจัดการทรัพย์สินหรือไม่ โดยการศึกษาวิจัยนี้ ได้ทำขึ้นระหว่างปี 2562-2563 ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
รศ.ดร.สันติ ถิรพัฒน์ คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยใน เวทีขับเคลื่อนนโยบาย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดการทรัพย์สินผู้สูงอายุไทย โดยพบว่า จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่อายุระหว่าง 55-70ปี จำนวน 1091 คน จากเครือข่ายชุมชน 7 จังหวัดทั่วประเทศพบว่า ผู้สูงอายุไทยมีทักษะจัดการตัวเงินค่อนข้างดี เช่น การคำนวน และ การเข้าใจเรื่องของเงินเฟ้อ เทียบได้กับสิงคโปร์ แต่เมื่อทดสอบในเรื่องของกระบวนการคิด พบว่ากระบวนการคิดค่อนข้างน้อย
นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้สูงอายุกลุ่มตัวอย่างถูกละเมิดจากลูกหลานค่อนข้างน้อยหากเทียบกับการถูกละเมิดจากบุคคลภายนอก ส่วนปัญหาเกี่ยวกับการใช้ ดูแล และรักษาทรัพย์สิน ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่คิดว่าเป็นปัญหาสำคัญของตัวเอง แต่มีความกังวลเรื่องของ การขาดความรู้ และเรื่องสุขภาพ
ขณะที่กระบวนการจัดการทรัพย์สิน พบว่า การออมเป็นปัญหาใหญ่ของผู้สูงอายุ ซึ่งจากการที่ทีมวิจัยลงไปสำรวจพบว่าร้อยละ 70 ไม่มั่นใจว่ามีเงินออมเพียงพอสำหรับอนาคต และจำนวนเกินครึ่งยังมีภาระหนี้หรือภาระผูกพัน เช่น การดูแลลูกหลานแต่เกือบร้อยละ 40 ของผู้สูงอายุหวังพึ่งรายได้จากลูกหลานในการดำรงชีพ
ทีมวิจัยยังพบอีกว่า ผู้สูงอายุมีความต้องการในการจัดการทรัพย์สิน ประมาณ 1 ใน 3 เท่านั้น เพราะผู้สูงอายุยังมองโลกดี คิดว่าการดำรงชีพในยามชรา ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะมีลูกหลานให้พึ่งพาในอนาคต
“การจัดการทรัพย์สินของผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นเรื่องของครัวเรือน หรือความเป็นส่วนตัว ดังนั้นกลไกของรัฐที่จะจัดให้มีทรัสต์ต่างๆ อาจเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะผู้สูงอายุยังพึ่งพาลูกหลาน พึ่งพาคู่สมรสในการจัดการทรัพย์สิน ถ้ามีปัญหาอะไรจะไปหาคนในครอบครัวเท่านั้น” รศ.ดร.สันติ ระบุ
นอกจากนี้งานวิจัยยังพบว่า ผู้สูงอายุถึงร้อยละ 70 อยู่อาศัยในบ้านที่ตัวเอง ดังนั้นเมื่อมีทรัพย์สินประเภทบ้านมาก ก็เท่ากับว่าการลงทุนในตราสารกองทุน หรือหุ้นจึงพบน้อยมาก
คำถามต่อมาของนักวิจัยคือ “แล้วอย่างไร?”
ศ.ดร.สันติ ระบุว่า ผู้สูงอายุบางกลุ่มมีความเปราะบางมาก เพราะเงินออมไม่เพียงพอ หรือ เงินที่ออมเอาไว้มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก นอกจากนี้ในต่างประเทศเริ่มพบว่า มีอัตราดอกเบี้ยที่ติดลบ ดังนั้นในอนาคตเงินที่สะสมเอาไว้จะหายไป หรือเงินที่ผู้สูงอายุสะสมไว้และคิดว่าน่าจะพอ แต่ความจริงไม่พอ เพราะอัตราดอกเบี้ยจะต่ำมาก และจะต่ำยาวจากวิกฤตโควิด
ขณะที่ผู้สูงอายุที่ยังทำงานอยู่ ก็จะเจอปัญหาเช่นกัน การจ้างงานอาจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้ ส่วนผู้สูงอายุในกลุ่มที่หวังพึ่งลูกหลาน ก็จะได้รับผลกระทบ หากลูกหลานประสบปัญหาในด้านการงาน ปัญหาเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะหลังวิกฤติโควิด-19นี้
อ่านต่อ : ข้อเสนอแนะการจัดการทรัพย์สินผู้สูงวัย โดยรศ.ดร.สันติ กิรพัฒน์