เปิดเงินเดือนผู้สูงอายุในบริษัทเอกชน

เปิดเงินเดือนผู้สูงอายุในบริษัทเอกชน งานวิจัย ชี้ ประสิทธิภาพการทำงานมากกว่าเทียบเท่าแรงงานทั่วไป แต่มีทัศนคติที่ดีกว่าอย่างชัดเจน 

หนึ่งในการรับมือความเปลี่ยนแปลงในการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ของประเทศไทยคือการจ้างงานผู้สูงอายุที่มีวัยมากกว่า 55 ปี หรือ หลังเกษียณ ในระบบแรงงานภายใต้แนวคิดที่ว่าผู้สูงอายุมีศักยภาพ ประสบการณ์และมีวินัยในการใช้ชีวิต ซึ่งยังคงคุณค่าและเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ได้อยู่  ขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุที่ถูกจ้างงาน ก็ย่อมเกิดความรู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่า ไม่เกิดความรู้สึกเหงา   เศร้าซึม ใช้ชีวิตทุกวันอย่างมีความสุข และยังได้รับค่าตอบแทน เพื่อนำไปใช้ในการดูแลตัวเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

ผลการศึกษาเรื่อง “รูปแบบการจ้างงานผู้สูงอายุในภาคเอกชนของไทย ความยืดหยุ่น ผลิตภาพ และความคุ้มครอง โดย ดร.ชลธิชา  อัศวนิรันดร วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวทีเสวนา “สังคมสูงวัย : ความพร้อมที่ต้องตั้งรับและความท้าทายที่ไทยต้องเผชิญ” ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย พบว่า ผู้สูงอายุมีโอกาสที่จะมีประสิทธิภาพการทำงานมากกว่า หรือ เทียบเท่าแรงงานทั่วไป (57 เปอร์เซ็นต์) แต่เมื่อพิจารณาด้านทัศนคติการทำงานแล้ว โอกาสที่ผู้สูงอายุ จะมีทัศนคติที่ดีต่อการทำงานมีมากกว่าแรงงานทั่วไป  (68 เปอร์เซ็นต์) อย่างชัดเจน

สำหรับงานที่แรงงานสูงอายุมีความโดดเด่น มีประสิทธิภาพและทัศนคติต่อการทำงานที่ดีมากที่สุด คือ งานที่เน้นการบริหารจัดการในระดับสูง หรือ เน้นกระบวนการผลิต เช่น ตำแหน่งผู้จัดการ ผู้บริหาร รวมถึงงานที่เน้นการสื่อสาร และการประสานงาน เช่น ตำแหน่งประสานงาน พนักงานบริการสูกค้า

และหากพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการจ้างงาน จะพบว่า งานที่เน้นการบริหารจัดการในระดับสูง
เน้นทัศนคติการให้บริการ เน้นด้านทักษะทางวิชาชีพ และเน้นการสื่อสารจะมีความคุ้มค่าต่อการจ้างงานระดับสูงเมื่อเทียบกับแรงงานอื่น เช่น ตำแหน่งหัวหน้า ผู้จัดการ เจ้าหน้าที่ ประสานงาน พนักงานบริการลูกค้า พนักงานเกี่ยวกับการทำอาหาร และ แม่บ้าน

ด้านเพื่อนร่วมงานและฝ่ายบุคคลที่จ้างงานผู้สูงอายุ ได้ให้ความเห็นว่า ผู้สูงอายุมาช่วยเติมเต็มและทดแทนตำแหน่งงานได้ดี เนื่องจากพนักงานวัยอื่นจะมีอัตราการลาออกจากงานค่อนข้างสูง ซึ่งผู้สูงอายุสามารถมาช่วยเสริมในส่วนนี้ได้

นอกจากนี้ยังสามารถช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ ดูแลแนะนำ และบริการลูกค้าได้เป็นอย่างดี เอื้อเฟื้อ     เผื่อแผ่ และช่วยสร้างบรรยากาศในการทำงานให้มีสีสันมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันยังมีความเป็นผู้นำสูง มีความรับผิดชอบสูง เช่น ถ้าเห็นอะไรไม่เป็นระเบียบก็จะช่วยหยิบจับทันที และผู้สูงอายุมีความน่าเชื่อถือ และมีความอดทนมากกว่า

งานวิจัยชิ้นนี้ยังศึกษาไปถึงค่าตอบแทนรายวันและรายเดือนที่แรงงานสูงวัยจะได้รับจากบริษัทเอกชน    ที่ได้ทำการสำรวจใน 7 บริษัท คือ Tesco Lotus, SE-ED, INDEX Livingmall, RD (KFC), บ.โกซอฟท์ (ประเทศไทย) CP (ALL), รพ.สำโรงการแพทย์ และ โรงเส้นหมี่ชอเฮง

พบว่า ในส่วนพนักงานสูงอายุที่ทำงานในตำแหน่งดูแลแนะนำและจัดเรียงสินค้า ในบริษัทค้าปลีกทำงาน เดือนละ 50 ชั่วโมง ได้ค่าตอบแทน 5,000 บาท เท่ากับได้ค่าแรงชั่วโมงละ 100  บาท

ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประสานงานในบริษัทประเภทให้บริการด้านสุขภาพ และ ประเภทการผลิตได้ค่าตอบแทนเดือนละ 16,118 – 28,150 บาท

เจ้าหน้าที่บริการด้านข้อมูล ในบริษัทด้านโทรคมนาคมและ บริษัทที่ให้บริการด้านสุขภาพได้ค่าตอบแทน 15,000 -17,118 บาทต่อเดือน

พนักงานทำอาหาร/ในครัว  ในบริษัทที่ให้บริการด้านสุขภาพ ได้ค่าตอบแทนเดือนละ  14,200  บาท

เจ้าหน้าที่เฉพาะทางที่ต้องใช้ทักษะและช่างเทคนิค ได้ค่าตอบแทน เดือนละ 17,535 – 26,850 บาท

แม่บ้าน พนักงานขับรถ และรปภ. ค่าตอบแทนเดือนละ 12,346 – 17,462 บาท

เจ้าหน้าที่การเงิน 17,531 บาท

หัวหน้า หรือ ผู้จัดการ 18,955 – 37,750 บาท

และพนักงานบริการอื่น ๆ เดือนละ 15,237 – 24,450 บาท

นอกจากนี้ยังมีผลประโยชน์อื่น ๆ ที่ได้รับแบ่งตามประเภทธุรกิจดังนี้ ค่าล่วงเวลา ในทุกประเภทธุรกิจ ทั้งขายปลีก โทรคมนาคม บริการด้านสุขภาพ และ การผลิต  ธุรกิจประเภทการบริการด้านสุขภาพ เป็นธุรกิจประเภทเดียวที่แรงงานสูงอายุจะได้รับค่าอาหาร (ในบางมื้อ) ส่วนค่าพาหนะ จะได้รับในธุรกิจประเภทการผลิต  และแรงงานที่อยู่ในบริษัทค้าปลีกจะได้รับส่วนลดสำหรับซื้อของบริษัทด้วย

ส่วนสวัสดิการ ผู้สูงอายุที่ทำงานในธุรกิจประเภทค้าปลีก บริการด้านสุขภาพ และการผลิตมีประกันสังคมให้ ส่วนธุรกิจประเภทโทรคมนาคม แม้ว่าจะไม่มีประกันสังคมให้ แต่มีสวัสดิการดูแลสุขภาพอื่น ทั้งประกันภัยกลุ่ม และสามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้  นอกจากนี้การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ธุรกิจประเภทค้าปลีกยังมอบสวัสดิการนี้ให้กับแรงงานสูงอายุนอกเหนือจากประกันสังคมด้วย

อย่างไรก็ตามผลการสำรวจยังพบว่า ธุระกิจประเภทการให้บริการด้านสุขภาพ จัดเต็มด้านสวัสดิการเกี่ยวกับสุขภาพให้แรงงานสูงอายุครบทั้ง 3 รูปแบบ คือ มีทั้งประกันสังคม เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล และประกันภัยกลุ่ม

ผลการศึกษา ยังได้สอบถามความคิดเห็นของแรงงานสูงอายุพบว่าสวัสดิการที่ผู้สูงอายุมีความต้องการได้รับมากที่สุด คือ ประกันสังคม 65.7เปอร์เซ็นต์ ตามด้วย ประกันสุขภาพ และประกันชีวิตกลุ่ม

อ่านต่อตอนที่ 3 : สำรวจความเห็นมาตรการจ้างงานผู้สูงอายุ พบ ยังไร้แรงจูงใจเท่าที่ควร แนะ รัฐปรับปรุงฐานข้อมูลเอื้อจ้างผู้สูงวัย พร้อมเพิ่มกองทุนประกันสังคมให้ครอบคลุม