จับเข่าคุย 3 นักวิชาการ ทำอย่างไรให้มีอยู่-มีกินในยามชรา

จับเข่าคุย 3 นักวิชาการ ทำอย่างไรให้มีอยู่มีกินในยามชรา จะจัดการทรัพย์สินอย่างไรให้อยู่ได้ในยามชรา?เป็นคำถามที่ใครหลายคนหาคำตอบ

ในเวทีเสวนาหลักประกันทางการเงินสำหรับผู้สูงอายุ ที่จัดขึ้นโดย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)  ซึ่งประกอบไปด้วย รศ.ดร.สันติ กิรพัฒน์ คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์,    ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.สุภารัตน์ ตันทนงศักดิ์กุล คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการพูดคุยถึง เรื่องนี้ ในหัวข้อ “สังคมสูงอายุ : ความพร้อมที่ต้องตั้งรับ กับความท้าทายที่ไทยต้องเผชิญ”

โจทย์หนึ่งที่ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินของผู้สูงวัยได้พูดคุยกัน คือ “วิธีจัดการทรัพย์สินง่าย ๆสำหรับตัวเราเอง”

รศ.ดร.สันติ มองว่า สิ่งที่จะสามารถทำได้ในช่วงเวลานี้คือการลดรายจ่าย เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ทำให้มีโอกาสการลงทุนค่อนข้างน้อย การลงทุนในหุ้นตอนนี้ลำบาก  ขณะเดียวกันการลงทุนในกองทุนต่างประเทศก็มีโอกาสที่จะเผชิญกับความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน

“ทุกคนควรลดรายจ่าย และยิ่งถ้ามีเงินออมไม่เพียงพอ ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะโดยส่วนตัวคิดว่ารัฐคงไม่มีเงินที่จะนำมาดูแลผู้สูงอายุได้อย่างเพียงพอ อีกทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยอัตราที่ไวมาก ทำให้รัฐจะต้องแบกรับภาระนี้ค่อนข้างมาก ซึ่งรัฐเองก็จะต้องใช้จ่ายงบประมาณอย่างประหยัดด้วยเพราะในอนาคตจะต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุจำนวนมาก” รศ.ดร.สันติ ระบุ

เช่นเดียวกับ ดร.สุภารัตน์ ที่มองว่า ผู้สูงอายุไม่เหลือเวลาที่จะออมเงินแล้ว และไม่ควรนำเงินไปลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยง เพราะอาจจะต้องมีการดึงเงินมาใช้ตลอดเวลา แต่ถ้าใครยังอายุไม่มาก มีแค่คำแนะนำเดียวคือ ใช้เงินอย่างเหมาะสม

ขณะที่ดร.วรเวศม์  ระบุว่า เราต้องรู้ตัวเองว่าอยู่ตรงไหนในระบบบำนาญของประเทศไทย เช่น ถ้าไม่ได้ทำงานเป็นลูกจ้าง ไม่ได้เป็นข้าราชการ รัฐไทยก็มีเครื่องมืออย่างหนึ่ง คือกองทุนการออมแห่งชาติ ที่สามารถสร้างหลักประกันได้

“การรู้ถึงระบบต่าง ๆ ว่าทำงานอย่างไร จังหวะชีวิตตรงไหน เป็นเรื่องสำคัญที่คนวัยหนุ่มสาวจะต้องรู้นอกเหนือจากจะต้องรู้จักการออมหรือการลงทุนทั่วไป” ดร.วรเวศม์ ระบุ

 

ดร.วรเวศม์ ยังกล่าวถึงด้วยสินเชื่อแบบจำนองย้อนกลับสำหรับคนที่มีบ้านเป็นของตัวเอง ที่จะใช้เป็นหลักประกันในการกู้เงินกับธนาคารในบั้นปลาย โดยที่ตัวผู้กู้ยังสามารถพักอาศัยอยู่ในบ้านได้ว่า ข้อดี คือเราสามารถอยู่บ้านหลังนั้นได้จนกระทั่งเสียชีวิต เรื่องหนี้คุยกันตอนที่เราไม่อยู่แล้ว จากนั้นธนาคารก็จะถามว่าทายาทว่า อยากเก็บบ้านด้วยไหมถ้าอยากเก็บบ้าน ก็ต้องนำเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยมาชำระและนำบ้านคืนไป

 

แต่หากทายาทไม่อยากได้บ้าน และธนาคารนำไปขายได้เงินมากกว่ามูลค่าหนี้ ส่วนที่เกินธนาคารจะต้องให้เป็นมรดกแก่ทายาท ธนาคารไม่สามารถเก็บเงินส่วนที่เหลือที่เกินจากราคานี้เอาไว้ได้แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าหนี้เกินจากราคาบ้านที่ขายได้ธนาคารจะต้องได้รับความเสียหายไว้เอง ทายาทไม่ต้องมากังวลว่าจะต้องมาแบกรับภาระหนี้

 

อย่างไรก็ตามเงินที่ธนาคารจะจ่ายให้กับผู้สูงอายุเป็นรายเดือนจะจ่ายถึงอายุ 85 ปีเท่านั้น แต่ผู้สูงอายุสามารถที่จะอยู่ในบ้านหลังนั้นต่อไปได้จนกว่าจะเสียชีวิต แต่มีความพยามเสนอกันว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ ธนาคารจะให้จ่ายเงินให้ผู้สูงอายุได้จนถึงวันที่เขาเสียชีวิต เหมือนในต่างประเทศ

 

เหล่านี้คือคำแนะนำที่ 3 ผู้ทรงคุณวุฒิให้ไว้เป็นทางเลือกให้กับผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ที่กำลังจะสูงอายุในอนาคต เพื่อที่จะเตรียมความพร้อมรับมือให้ตัวเองมีคุณภาพชีวิตที่ดีในบั้นปลาย