เปิดข้อเสนอขับเคลื่อนนโยบาย 8020 สุขภาพช่องปากเพื่อผู้สูงอายุ ตอนที่ 1

เปิดข้อเสนอขับเคลื่อนนโยบาย 80 /20 สุขภาพช่องปากเพื่อผู้สูงอายุ ตอนที่ 1 : สำรวจสุขภาพฟันผู้สูงอายุไทย

 

“สุขภาพช่องปากที่ดี” จะส่งผลให้มีสุขภาพดี  และจะส่งผลต่อการมีอายุยืนยาวที่มีคุณภาพด้วย  ซึ่งสุขภาพช่องปาก ไม่ได้หมายถึงการไม่มีโรคของช่องปากเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการมีฟันเพียงพอที่จะเคี้ยวอาหารด้วย

ในรายงาน “จัดทำข้อเสนอการขับเคลื่อนนโยบาย 8020 สุขภาพช่องปากเพื่อผู้สูงอายุ” โดย   ทพญ.ฉวีวรรณ ภักดีธนากุล  ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ได้ระบุประเด็นปัญหาสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุที่สำคัญ 7 ปัญหา คือ 1.ฟันผุโดยเฉพาะบริเวณรากฟัน 2.โรคเหงือกและโรคปริทันต์อักเสบ 3.การสูญเสียฟันและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใส่ฟัน 4.ฟันสึก 5.โรคมะเร็งในช่องปาก 6.สภาวะปากแห้ง และ7.อาการปวดบริเวณกะโหลกและใบหน้า

โดยผลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ประเทศไทย พ.ศ. 2560  ในกลุ่มวัยสูงอายุในช่วงอายุ60-74ปี และอายุ80-85ปี พบว่า  กลุ่มวัยสูงอายุ 60-74 ปี มีค่าเฉลี่ยฟันถาวรที่มีในช่องปาก 18.6 ซี่ต่อคน ในจำนวนนี้เป็นผู้มีฟันถาวรใช้งานได้อย่างน้อย 20 ซี่ ร้อยละ56.1 ,มีฟันหลังสบกันอย่างน้อย 4 คู่สบร้อยละ 40.2 , มีจำนวนฟันถาวรใช้งาน 20 ซี่และมีฟันหลัง 4 คู่สบร้อยละ 39.4  ,โดยในเขตชนบทมีผู้ที่มีจำนวนฟันถาวรใช้งาน 20 ซี่ และมีฟันหลัง 4 คู่สบมากที่สุดร้อยละ41.3  รองลงมาคือเขตเมืองและกรุงเทพมหานคร

เมื่อดูแยกรายภาคพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้ที่มีจำนวนฟันถาวรใช้งาน 20ซี่ และมีฟันหลัง 4 คู่สบมากกว่าภาคเหนือภาคใต้ และภาคกลางขณะที่ผู้สูงอายุตอนปลายอายุระหว่าง 80-85 ปี มีการสูญเสียฟันถาวรเพิ่มขึ้น โดยมีค่าเฉลี่ยฟันถาวรที่มีในช่องปาก10 ซี่ต่อคน ส่วนผู้สูงอายุที่มีฟันถาวรใช้งานได้อย่างน้อย 20 ซี่  มีเพียงร้อยละ 22.4 และมีฟันหลังสบกัน 4 คู่สบเพียงร้อยละ12.1 เท่านั้น

ผลการศึกษายังระบุด้วยว่า สถานการณ์ที่สะท้อนปัญหาที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุมากที่สุด คือ การปราศจากฟันถาวรทั้งปาก ซึ่งในกลุ่มอายุ 60-74 ปีมีจำนวนร้อยละ8.7

ในขณะที่ในกลุ่มอายุ 80-85 ปี พบการสูญเสียฟันทั้งปากเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าเป็นร้อยละ 31.0นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า กลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์การเป็นโรคฟันผุครอบคลุมเกือบทั้งกลุ่มประชากร โดยในกลุ่มผู้สูงอายุ 60-74 ปี มีฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษาร้อยละ52.6 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบสูงสุดร้อยละ 59.1 และมีผู้สูงอายุที่ได้รับการอุดฟันแล้วน้อยที่สุดคือร้อยละ15.9

ในขณะที่ภาพรวมประเทศมีผู้สูงอายุที่ได้รับการอุดฟันแล้วอยู่ที่ร้อยละ 22.5 เท่านั้นสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ 80-85ปี พบว่าแทบทุกคนมีประสบการณ์การสูญเสียฟัน และในเขตกรุงเทพมหานคร พบผู้สูงอายุได้รับการอุดฟันมากกว่าพื้นที่อื่นๆอย่างชัดเจน โดยได้รับการอุดฟันร้อยละ 31.7 ในขณะที่ภาพรวมประเทศของผู้สูงอายุได้รับการอุดฟันเพียงร้อยละ 9.9

ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ 80-85ปี พบว่าแทบทุกคนมีประสบการณ์การสูญเสียฟัน และในเขตกรุงเทพมหานคร พบผู้สูงอายุได้รับการอุดฟันมากกว่าพื้นที่อื่นๆอย่างชัดเจนเช่นกัน โดยได้รับการอุดฟันร้อยละ 31.7 ในขณะที่ภาพรวมประเทศของผู้สูงอายุได้รับการอุดฟันเพียงร้อยละ 9.9

ขณะที่ปัญหารากฟันผุที่ยังไม่ได้รักษาพบสูงสุดร้อยละ16.5 ในผู้สูงอายุ 60-74 ปี แต่การผุจะลดลงเป็นร้อยละ 12.5 ในกลุ่มผู้สูงอายุ 80-85 ปีเนื่องจากส่วนใหญ่มีการสูญเสียฟันถาวรไปแล้ว โดยผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานครทั้ง 2 ช่วงอายุพบรากฟันผุและอุดสูงกว่าภาคอื่นๆ