เช็คพฤติกรรมดูแลฟันผู้สูงอายุ ผลสำรวจชี้ พบหมอฟันแค่1ใน3 ยังเจอความเสี่ยงดื่มสุรา -สูบบุหรี่เฉลี่ยวันละ9มวน

เปิดข้อเสนอขับเคลื่อนนโยบาย 80 / 20 สุขภาพช่องปากเพื่อผู้สูงอายุ ตอนที่2: เช็คพฤติกรรมดูแลฟันผู้สูงอายุ  ผลสำรวจชี้ พบหมอฟันแค่1ใน3  ยังเจอความเสี่ยงดื่มสุราสูบบุหรี่เฉลี่ยวันละ9มวน

ปัญหาใหญ่ที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุมากที่สุด คือ การปราศจากฟันถาวรทั้งปาก โดยผู้สูงอายุไทยในกลุ่มอายุ 60-74 ปี มีจำนวนที่ไม่มีฟันทั้งปาก ร้อยละ8.7 และเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า หรือร้อยละ 31 ในกลุ่มอายุ 80-85 ปี ซึ่งปัญหานี้มาจากพฤติกรรมในการดูแลช่องปากของผู้สูงอายุ

ในรายงาน “จัดทำข้อเสนอการขับเคลื่อนนโยบาย 8020 สุขภาพช่องปากเพื่อผู้สูงอายุ”  ของทพญ.ฉวีวรรณ ภักดีธนากุล  ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)  ได้สำรวจพฤติกรรมสุขภาพของผู้สูงอายุ 2 ส่วน คือ พฤติกรรมการทำความสะอาดช่องปาก และพฤติกรรมสุขภาพอื่นๆ รวมพฤติกรรมเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง พบว่า พฤติกรรมการทำความสะอาดช่องปากหลักของผู้สูงอายุยังคงเป็นการแปรงฟันโดยร้อยละ 92.0  แบ่งเป็นแปรงฟันหลังตื่นนอนตอนเช้าทุกวันร้อยละ 72.5 , แปรงฟันก่อนเข้านอนทุกวันแล้วนอนทันทีร้อยละ 53.7

โดยผู้สูงอายุร้อยละ 72.7 ใช้เวลาแปรงฟันต่อครั้ง ประมาณ 2 นาทีขึ้นไป , แปรงฟันด้วยแปรงสีฟันแข็งกว่ามาตรฐาน ร้อยละ 24.1และแปรงร่วมกับยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ร้อยละ 81.8

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุประมาณครึ่งหนึ่ง ร้อยละ 47 ใช้อุปกรณ์เสริมร่วมกับการแปรงฟันด้วย โดยอุปกรณ์เสริมที่ใช้มากที่สุด คือไม้จิ้มฟันร้อยละ 28.6  รองลงมาคือน้ำยาบ้วนปากร้อยละ 20.3 ทั้งนี้มีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 6 เท่านั้นที่ใช้ไหมขัดฟันหรือแปรงซอกฟันร่วมกับการแปรงฟัน

ส่วนการทำความสะอาดฟันเทียม หรือ ฟันปลอม พบว่าร้อยละ 48.2 แปรงฟันเทียม,  ร้อยละ 20 ทำความสะอาดโดยล้างน้ำเปล่า และร้อยละ 8.2 ใช้น้ำยาล้างฟันเทียม

ขณะที่พฤติกรรมสุขภาพอื่นๆ และพฤติกรรมเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง พบว่า  มีผู้สูงอายุที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอมีเพียง1ใน3 หรือร้อยละ 33.5เท่านั้น ,ผู้สูงอายุที่ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว ร้อยละ 54.2 และบริโภคผักและผลไม้เป็นประจำ ร้อยละ 58.4

นอกจากนี้การสำรวจยังพบด้วยว่า  มีผู้สูงอายุที่ยังคงสูบบุหรี่อยู่ร้อยละ 12.8 โดยสูบเฉลี่ยวันละ9.7 มวน เป็นเวลาต่อเนื่องเฉลี่ย 36.3 ปี ในขณะที่ผู้ที่เคยสูบบุหรี่แต่เลิกได้แล้วมีอยู่ร้อยละ 14.6  ผู้สูงอายุกลุ่มนี้เคยสูบเฉลี่ยวันละ 13.7 มวน เป็นเวลาต่อเนื่องเฉลี่ย 23.4 ปี

มีผู้สูงอายุร้อยละ 21.2 ที่ยังคงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยในกลุ่มนี้ร้อยละ 4.8 ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ผู้สูงอายุที่ยังคงเคี้ยวหมากอยู่ร้อยละ 6.9

ส่วนอัตราการเข้ารับบริการทันตกรรมในปีที่ผ่านมา ทีผู้สูงอายุร้อยละ 38.6 เท่านั้นที่ไปพบทันตแพทย์ ซึ่งในจำนวนนี้เหตุผลที่ไปรับบริการสูงสุดร้อยละ 12.3 คือรู้สึกมีอาการปวดหรือเสียวฟัน ทั้งนี้ยังพบว่า การรักษาโดยการเก็บรักษาฟันไว้จึงมีความยุ่งยากซับซ้อน หลายขั้นตอน ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถมารับบริการต่อเนื่องได้จนถูกถอนฟันไปในที่สุด

ดังนั้นประเด็นที่ควรให้ความสำคัญสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ คือการสื่อสารความรู้ให้เข้าใจและตระหนักในเรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตนเองที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องทางหลักที่กลุ่มผู้สูงอายุเข้าถึงและได้รับข้อมูลสูงสุดคือ การสื่อสารผ่านบุคลากรสาธารณสุข  และผ่านสื่อโทรทัศน์

รวมทั้งการสนับสนุนให้เข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากประจำปี ซึ่งจากการสำรวจพบว่า มีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 8.4 ที่เข้ารับบริการรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม เพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเสียฟัน พร้อมกับการใส่ฟันเทียมบางส่วนและทั้งปากเพื่อทดแทนฟันถาวรที่สูญเสียไป

สำหรับอุปสรรคในการดูแลสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุนั้น พบปัญหาสุขภาพทั่วไปของผู้สูงอายุมักจะทำให้การวางแผนการรักษาซับซ้อนขึ้น ความบกพร่องทางการเคลื่อนไหวจะเป็นอุปสรรคขัดขวางการเข้าถึงการดูแลสุขภาพช่องปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทที่มีระบบขนส่งสาธารณะไม่ดี และสถานบริการอยู่ห่างไกล ผู้สูงอายุบางคนอาจประสบกับความยากลำบากทางการเงินหลังเกษียณอายุ มีปัญหาค่าใช้จ่ายในการรักษาทางทันตกรรมร่วมกับทัศนคติที่ไม่ดีต่อสุขภาพช่องปาก อาจขัดขวางไม่ให้ไปพบทันตแพทย์

ในรายงานฉบับนี้ยังระบุด้วยว่า มีผู้สูงอายุจำนวนมากประสบกับภาวะโรคในช่องปาก และส่วนใหญ่ยังคงไม่ได้รับการรักษา เนื่องจากการเข้าถึงบริการที่จำกัด และมีค่าใช้จ่ายสูง  ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพจึงต้องตระหนักถึงปัจจัยที่สำคัญเหล่านี้ และจัดการบริการสุขภาพช่องปากที่เหมาะสม ให้สามารถเข้าถึงได้และเป็นที่ยอมรับสำหรับผู้สูงอายุ