ระบบบริการด้านทันตสุขภาพทั่วโลก พบปัญหาความไม่เท่าเทียม

เปิดข้อเสนอขับเคลื่อนนโยบาย 80/20 สุขภาพช่องปากเพื่อผู้สูงอายุ ตอนที่3 :ระบบบริการด้านทันตสุขภาพทั่วโลก พบปัญหาความไม่เท่าเทียม

 องค์การอนามัยโลก (WHO ) เปิดเผยเกี่ยวกับผลการศึกษา ในประเด็น สุขภาพช่องปาก: ความเสมอภาคและปัจจัยทางสังคม โดยชี้ว่า ยังมีความไม่เท่าเทียมกันในระบบบริการสุขภาพช่องปากในหลายประเทศ จนกลายเป็นปัญหาของโลก โดยความไม่เท่าเทียมกันเหล่านี้แตกต่างกันไปตามขนาดและขอบเขต

แม้แต่ในประเทศที่มีรายได้สูงและมีการดูแลสุขภาพ โดยรัฐเป็นอย่างดี ก็ยังคงมีความไม่เท่าเทียมกันในด้านสุขภาพช่องปากอยู่ ซึ่งปัจจัยนี้ส่งผลต่อผลกระทบต่อสุขภาพช่องปาก และคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่ด้อยโอกาส ทั้งในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา

โรคฟันผุและโรคเหงือกเป็นภาวะที่พบได้บ่อยที่สุดในประชากร และภาวะอื่น ๆ เช่น การสึกกร่อนของฟันก็มีความชุกเพิ่มมากขึ้นด้วย ผลของมะเร็งช่องปาก การสูญเสียฟันจากโรคในช่องปากและการบาดเจ็บที่เกิดจากอุบัติเหตุ มีผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิต

นอกจากนี้ยังพบว่า สุขภาพช่องปากและสุขภาพทั่วไปมีความเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งจะมีปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อยร่วมกัน ได้แก่ การรับประทานอาหารที่ไม่ดี การบริโภคยาสูบและการดื่มแอลกอฮอล์

ในทำนองเดียวกันคนผู้ที่ประสบปัญหาสุขภาพทั่วไปก็จะมีความเสี่ยงต่อโรคในช่องปากมากขึ้นและมีความซับซ้อนของโรคเพิ่มขึ้นด้วย โรคบางอย่างที่ปรากฏในปากและแผลในช่องปากอาจเป็นสัญญาณแรกของโรคที่คุกคามชีวิต เช่น เอชไอวี

รายงาน “จัดทำข้อเสนอการขับเคลื่อนนโยบาย 80/20 สุขภาพช่องปากเพื่อผู้สูงอายุ” โดย   ทพญ.ฉวีวรรณ ภักดีธนากุล  ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)  ได้ระบุถึงนโยบาย Health 2020 ของยุโรปเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพ โดยมีพื้นฐานสำคัญ 4 ประการ ในการดำเนินนโยบาย คือ  จัดการลงทุนด้านสุขภาพโดยการเสริมสร้างศักยภาพผู้คน ,จัดการกับความท้าทายด้านสุขภาพที่สำคัญของภูมิภาคทั้งโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง , เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพิ่มขีดความสามารถด้านสุขภาพในการเฝ้าระวังและการเตรียมพร้อมในกรณีฉุกเฉิน  และสร้างชุมชนและปรับสภาพแวดล้อมให้สนับสนุนการดูแลสุขภาพของประชาชน

ขณะที่ระบบบริการทันตกรรมสำหรับผู้สูงอายุของประเทศญี่ปุ่นJapan Dental Association มีแนวทางและข้อเสนอแนะสำหรับการดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน เพื่อการมีชีวิตที่ยืนยาวและมีสุขภาพดีที่น่าสนใจดังนี้

1.พัฒนาระบบสุขภาพและการแพทย์ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปากตามความต้องการและครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม

2.ให้บุคลากรด้านทันตสุขภาพสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน เพื่อการมีชีวิตที่ยืนยาวและสุขภาพดีแก่ประชาชนและผู้กำหนดนโยบายด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

3.ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีด้านสุขภาพและการแพทย์ รวมทั้งการฝึกอบรมผู้ให้บริการ ตามหลักฐานทางวิชาการ

4.เน้นการป้องกันการสูญเสียฟันการป้องกันโรคในช่องปากเช่นโรคฟันผุและโรคปริทันต์เนื่องจากมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าจะก่อให้เกิดผลดีต่อการมีอายุยืนยาว

5.บุคลากรด้านทันตสุขภาพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะทำงานร่วมกันในการออกมาตรการเพื่อจัดการกับปัญหาปัจจัยเสี่ยงร่วมของโรคในช่องปากและโรคไม่ติดต่อโดยพัฒนาระบบสุขภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลครอบคลุมตั้งแต่วัยผู้ใหญ่ถึงวัยชรา

6.ควรทำการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปากให้ครอบคลุมทั้งด้านการป้องกันการควบคุมการรักษาและการฟื้นฟูทันตสุขภาพ

7.ทำการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของสุขภาพช่องปากกับการมีอายุขัยที่มีสุขภาพดี 8.ควรศึกษาวิจัยและประเมินผลของการดำเนินนโยบายสุขภาพช่องปากและฟันทางเศรษฐศาสตร์การแพทย์ร่วมไปด้วยและ9. ควรดำเนินการศึกษาและประเมินนโยบายสุขภาพที่มีความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพช่องปากและฟันและการมีอายุขัยที่มีสุขภาพดี

ส่วนระบบบริการทันตกรรมผู้สูงอายุของประเทศไทยนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้สถานบริการสุขภาพทุกระดับมีคุณภาพได้มาตรฐาน มีระบบส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ ในรูปแบบเครือข่ายบริการ(Service plan) ภายใต้หลักการ “เครือข่ายบริการที่ไร้รอยต่อ”

โดยเชื่อมโยงบริการระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิเข้าด้วยกัน แต่การให้บริการด้านทันตกรรมในผู้สูงอายุเป็นการจัดบริการแบบทั่วไป ยังไม่มีรูปแบบบริการเฉพาะ  และจากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี พ.ศ. 2562 พบว่า การบริการทันตกรรมสำหรับผู้สูงอายุในโรงพยาบาลของรัฐ ยังไม่เพียงพอทั่วถึงด้วย

 

////