ถอดความสำเร็จของญี่ปุ่น กว่าครึ่งของผู้สูงอายุ 80 ปีมีฟันแท้ไม่น้อยกว่า 20 ซี่

เปิดข้อเสนอขับเคลื่อนนโยบาย 80/20 สุขภาพช่องปากเพื่อผู้สูงอายุ ตอนที่4 : ถอดความสำเร็จของญี่ปุ่น กว่าครึ่งของผู้สูงอายุ 80 ปีมีฟันแท้ไม่น้อยกว่า 20 ซี่

ชาวญี่ปุ่นอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป ยังมีฟันแท้ไม่น้อยกว่า 20 ซี่ ถึงร้อยละ 51.2  สิ่งนี้เป็นผลพวงมาจากการดำเนินนโยบาย8020 ที่ตั้งเป้าไว้ว่า ให้คนรักษาฟันของตัวเองไว้ให้ได้อย่างน้อย 20 ซี่ แม้อยู่ในวัย 80

นโยบายนี้มีความเชื่อว่าการมีสุขภาพช่องปากดี จะส่งผลให้มีสุขภาพดี  และจะส่งผลต่อการมีอายุยืนยาวที่มีคุณภาพ และมีฟันเพียงพอที่จะเคี้ยวอาหาร แต่กว่าจะประสบความสำเร็จในการส่งเสริมนโยบายนี้ ญี่ปุ่นได้ใช้ระยะเวลาหลายสิบปีในการผลักดันโครงการ โดยเมื่อ 33 ปีที่แล้ว เริ่มต้นใช้นโยบาย 8010 ส่งเสริมให้รักษาฟันไว้ให้ได้อย่างน้อย 10 ซี่ ในอายุ 80 ปี และต่อมามีการยกระดับเป็นแคมเปญ8020

ในปี 2000 รัฐบาลเปิดตัวโครงการ Healthy Japan 21 และก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริม 8020 ภายใต้โครงการเงินอุดหนุนงบประมาณใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ  จากนั้นกำหนดให้คนอายุ 60 ปี และ 70 ปี เข้ารับการตรวจโรคปริทันต์ ในโครงการสุขภาพสำหรับสูงอายุ

โดยบรรจุให้การตรวจโรคปริทันต์ รวมอยู่ในรายการตรวจสุขภาพ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งขึ้นคลินิกทันตกรรมเพื่อสนับสนุนการดูแลทางการแพทย์ที่บ้าน

ต่อมาทางการญี่ปุ่นได้ปรับนโยบายชาติ 2 ประเด็น คือ ป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่นการตรวจสุขภาพและให้คำแนะนำด้านสุขภาพสำหรับป้องกันโรคเมตาบอลิซึมในกลุ่มคนอายุ 40–79 ปี และ  สร้างระบบการดูแลสุขภาพแบบบูรณาการในชุมชน โดยสมาคมทันตกรรมญี่ปุ่นเริ่มดำเนินการในโปรแกรมประเมินความเสี่ยง มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาและลดปัจจัยเสี่ยงในการป้องกันและการควบคุมโรคในช่องปาก

จากนั้นในปี 2011 มีการประกาศ พระราชบัญญัติเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพฟันและช่องปาก โดยกำหนดหลักการ แนวทางเพื่อส่งเสริมการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากและฟัน ,กำหนดหน้าที่ของรัฐบาลระดับชาติ และระดับท้องถิ่น ทันตแพทย์ รัฐมนตรีสาธารณสุข รัฐมนตรีพัฒนาสังคม , กำหนดหน้าที่ของประชาชนในการดูแลและเข้ารับการตรวจสุขภาพฟันและช่องปากของตนเอง,กำหนดการเข้ารับการตรวจฟันเป็นระยะ ,กำหนดความรับผิดชอบ ของรัฐบาลระดับชาติและระดับท้องถิ่นในการดำเนินการด้านการเงินและอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการส่งเสริมสุขภาพช่องปากและฟัน

รวมทั้งกำหนดให้รัฐบาลประจำจังหวัดและรัฐบาลของเมืองต่างๆ ตั้งศูนย์สุขภาพ และอาจจัดตั้งศูนย์สนับสนุนสุขภาพช่องปาก (Oral Health Support Centers) เพื่อสนับสนุนการดูแลด้านทันตกรรม บริการความรู้ ให้ข้อมูลรวมทั้งการฝึกอบรมและอื่น ๆ

จากนั้นมีการเปิดตัวโครงการ Healthy Japan 21 (ระยะที่สอง) มีการกำหนดเรื่องพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพช่องปากและฟันเพิ่มเติม และในปี2014 กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการเปิดตัวโครงการ ให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไปรับการตรวจสุขภาพช่องปากฟรี

ความสำเร็จของนโยบาย 8020 ของญี่ปุ่นนี้ ทำให้องค์การอนามัยโลก(WHO) นำเสนอให้แก่ประเทศต่างๆนำไปดำเนินการ โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่นำนโยบายดังกล่าวนี้มาเป็นเป้าหมายในการดูแลสุขภาพฟันและช่องปากเพื่อสร้างคุณภาพชีวิต และสุขภาพที่ดีให้กับผู้สูงวัย

 

////