เปิดข้อเสนอขับเคลื่อนนโยบาย 8020 สุขภาพช่องปากเพื่อผู้สูงอายุ ตอนที่5 : ประเทศไทยกับเป้าหมาย 8020

เปิดข้อเสนอขับเคลื่อนนโยบาย 8020 สุขภาพช่องปากเพื่อผู้สูงอายุ ตอนที่5  : ประเทศไทยกับเป้าหมาย 8020

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่นำแนวคิด “8020” ของญี่ปุ่นมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศโดยเป้าหมาย 8020 ในแบบฉบับของไทย มีแผนงานและการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง ที่น่าสนใจดังนี้ ให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงการบริการส่งเสริมป้องกันรักษาและฟื้นฟูสภาพช่องปากเพิ่มขึ้นซึ่งจะลดปริมาณผู้สูงอายุที่มีโรคในช่องปากและการสูญเสียฟัน รวมทั้งคงสภาพการใช้งานหลังเกิดโรคและการสูญเสียฟัน ตลอดจนสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตนเอง

 

นอกจากนี้ให้มีพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมด้านทันตสุขภาพที่จำเป็น สำหรับผู้สูงอายุและนำมาสนับสนุนบริการฉุกเฉินต้องการรักษาฟื้นฟูสภาพช่องปากผู้สูงอายุรวมถึงพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านทันตกรรมผู้สูงอายุ ให้มีองค์ความรู้และปริมาณที่เหมาะสมต่อการดูแลแก้ปัญหาสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกันต้องควบคู่ไปกับพัฒนาระบบการบริหารจัดการงบประมาณ การสนับสนุน กำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานตามแผนงานทันตกรรมผู้สูงอายุแห่งชาติที่มีประสิทธิผล

แผนดังกล่าวตั้งเป้าไว้ว่าร้อยละ 80 ของผู้สูงอายุจะมีสุขภาพช่องปากที่ดี และมีฟันใช้งานได้อย่างเหมาะสม อย่างน้อย 20 ซี่ หรือ 4 คู่สบฟันหลัง โดยความหมายของ “สุขภาพช่องปากที่ดี” หมายถึง การมีสภาวะช่องปากและอวัยวะที่เกี่ยวข้องที่ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ สามารถกินอาหาร พูด และเข้าสังคมได้ รวมไปถึงการช่วยส่งเสริมให้สุขภาพโดยทั่วไปดี ปราศจากพยาธิสภาพใดๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคฟันผุ การสึกของฟัน เนื้อเยื่อปริทันต์ กระดูกและเยื่อเมือกในปาก การบดเคี้ยว สภาพฟันปลอม รวมทั้งความพึงพอใจในสภาวะช่องปากของตนเอง

มีนวัตกรรมเพื่อการแก้ปัญหาสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุอย่างน้อย 5ใน7 ประเด็นประกอบด้วย การสูญเสียฟันและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ฟัน, ฟันผุและรากฟันผุ ,แผล/มะเร็งช่องปาก ,สภาวะน้ำลายแห้ง ,ฟันสึก,โรคปริทันต์ และสภาวะช่องปากอื่นๆที่สัมพันธ์กับโรคทางระบบของผู้สูงอายุ

โดยมีมีกระทรวงสาธารณสุข และกรมอนามัยที่เป็นผู้รับผิดชอบหลัก  และมีความร่วมมืออีกหลายหน่วยงาน โดยที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการแผนงานทันตสุขภาพ สำหรับผู้สูงอายุประเทศไทยปี 2558 ถึง 2565 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา

สำหรับแผนงานด้านผู้สูงอายุสำนักทันตกรรม สาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กำหนดไว้ว่าในปี 2563 ใช้แผนการดำเนินการภายใต้วัตถุประสงค์ “ผู้สูงอายุสุขภาพดี ดูแลตนเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี”

“ผู้สูงอายุสุขภาพดี ดูแลตนเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี” ตั้งเป้าหมายว่า ในการดำเนินงานผู้สูงอายุได้รับการประเมินและคัดกรองสุขภาพเบื้องต้นอย่างน้อย 8,500,000 คน , มีจำนวนตำบลผ่านเกณฑ์ร้อยละ 80 , ผู้สูงอายุที่ได้รับการดูแลตามแผนการดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงรายบุคคลร้อยละ 80, ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง เปลี่ยนกลุ่มจากติดเตียงเป็นติดบ้าน และจากกลุ่มติดบ้านเป็นติดสังคม, มีการดำเนินงานพัฒนาชุมชนต้นแบบเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุอย่างน้อยเขตสุขภาพละ 2 เมือง, ร้อยละ 60 ของประชากรสูงอายุที่มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์

ผู้สูงอายุเข้าถึงนวัตกรรมบริการช่องปากไม่น้อยกว่า 400,000 คน, มีนวัตกรรมหรือกิจกรรมการดูแลช่องปากโดยเครือข่ายประชาชน-ชมรมไม่น้อยกว่า 7000  ตำบล, มีการดำเนินงาน “วัดส่งเสริมสุขภาพ” ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 55 , มีการดำเนินงาน “วัดส่งเสริมสุขภาพ”สู่ “วัดรอบรู้ด้านสุขภาพ” อย่างน้อยเขตสุขภาพละ 1 วัด

นอกจากนี้การรณรงค์ ที่ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสื่อสารที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ผ่านการสร้างการตระหนักรู้ โน้มน้าวใจให้คล้อยตาม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนตั้งแต่ก่อนวัยเข้าสู่ช่วงวัยสูงอายุในการดูแลรักษาฟัน

 

////