สิทธิคนไทยกับการตรวจสุขภาพช่องปากเชิงป้องกัน

เปิดข้อเสนอขับเคลื่อนนโยบาย 80/20 สุขภาพช่องปากเพื่อผู้สูงอายุ ตอนที่6 : สิทธิคนไทยกับการตรวจสุขภาพช่องปากเชิงป้องกัน

การสำรวจสุขภาพประชาชนไทย พบว่าประชาชนบางส่วนไม่ตระหนักถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรค หรือการป่วยเป็นโรค เช่น 1ใน3ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน และกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ก็ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยมาก่อน ทั้งที่ภาวะเสี่ยงหรือโรคต่างๆสามารถตรวจพบได้ด้วยวิธีที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และสามารถให้การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันการเกิดโรคและบำบัดรักษาแต่เนิ่นๆ และยังพบว่าประชาชนบางส่วนยังไม่ได้รับการตรวจสุขภาพที่จำเป็น เนื่องจากขาดความรู้เข้าไม่ถึงบริการและปัญหาจากการกระจายทรัพยากรในแต่ละพื้นที่

 

รายงาน “จัดทำข้อเสนอการขับเคลื่อนนโยบาย 8020 สุขภาพช่องปากเพื่อผู้สูงอายุ” โดย   ทพญ.ฉวีวรรณ ภักดีธนากุล  ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ระบุว่า การตรวจฟันและช่องปากโดยทันตแพทย์ หรือทันตะบุคลากร จะทำให้ผู้ป่วยรับรู้โรคที่เป็นอยู่ แม้จะไม่มีอาการแสดงผู้ป่วยจะได้ตระหนักถึงผลเสีย รู้แนวทางปฏิบัติเฉพาะของตน การปรับพฤติกรรมสุขภาพ มีการทำความสะอาดด้วยการขุดหินปูน มีแผนการรักษาที่ได้มีความเห็นร่วมกันเพื่อตัดสินใจรับการรักษาต่อ

 

โดยแนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมของกลุ่มวัยผู้สูงอายุ พบว่าการตรวจสุขภาพช่องปากมีความสำคัญ สำหรับการวินิจฉัยและการจัดการโรคในช่องปาก เพื่อมองหาสัญญาณของโรคและปัญหาอื่นๆเพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามรุนแรงขึ้น และหากมีปัญหาจะได้แก้ไขเสียตั้งแต่ต้น เพื่อให้ผู้ป่วยมีสุขภาพช่องปากที่ดี และลดการสูญเสียฟัน รวมทั้งลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่องปาก และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยการสูญเสียฟันจะทำให้เกิดปัญหาในการบดเคี้ยว อาจจะกินอาหารได้ไม่หลากหลาย และอาจจะเลี่ยงอาหารบางอย่างที่ไม่เป็นประโยชน์และเกิดการขาดสารอาหาร

และด้วยเหตุที่โรคช่องปากมักจะไม่แสดงอาการตอนเริ่มแรก ผู้ป่วยจำนวนมากจึงปล่อยปละละเลยการดูแลฟันและช่องปาก และจะไปพบทันตแพทย์เมื่อมีอาการเท่านั้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพในช่องปากและฟัน จะเกิดขึ้นตลอดเวลาตามธรรมชาติ หรือจากการดูแลที่ไม่ดีพอ ดังนั้นการตรวจสุขภาพช่องปากจึงต้องทำเป็นระยะในทุกช่วงวัยของชีวิต

 

สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์  กรมการแพทย์ ได้จัดทำแนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับกลุ่มวัยผู้สูงอายุเมื่อปี 2559  ซึ่งได้กำหนดให้ทำการตรวจช่องปากและฟัน ประจำปี ปีละ 1 ครั้งทุกปี ตั้งแต่อายุ 60 ปี ขึ้นไป  โดยทันตแพทย์หรือทันตาภิบาล เพื่อคัดกรองความผิดปกติในช่องปากโดยรวม อาทิเช่น การไม่มีฟัน เหงือกร่น สภาพฟันเทียม และในกลุ่มผู้สูงอายุมักจะมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะในชนบท ซึ่งนอกจากการตรวจสุขภาพโดยการคัดกรองตามปกติแล้ว อาจจำเป็นต้องใช้วิธีค้นหากลุ่มเสี่ยง (Active case finding) ด้วยมาตรการเชิงรุก  แต่หากจะเริ่มต้นการตรวจช่องปากประจำปีในวัย 60 ปี ถือว่าล่าช้าเกินไป จึงจำเป็นต้องครอบคลุมถึงกลุ่มวัยทำงานด้วย

 

สำหรับกลุ่ม 40- 59 ปีนับว่าเป็นกลุ่มวัยทำงานที่กำลังจะเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ และเริ่มเกิดความเสื่อมของร่างกาย อีกทั้งภาระการงานมักจะทำให้ละเลยปัญหาสุขภาพ ไม่มีการดูแลรักษาดีเท่าที่ควร จึงพบว่าอัตราการสูญเสียฟันในวัยนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ โดยปัญหาโรคช่องปากจะสะสม การรักษาจะยุ่งยาก และมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น รวมทั้งส่งผลให้ประสิทธิภาพการเคี้ยวอาหารลดลง จนมีผลต่อสุขภาพกาย และจิตใจ การตรวจสุขภาพช่องปากประจำปีในวัยนี้ จึงจะเป็นการเตรียมตัวเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของตนในบั้นปลายชีวิตส่วนกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น กลุ่มผู้ป่วยโรคทางระบบ (โรคไม่ติดต่อเรื้องรัง NCDs) และกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง นั้นการตรวจสุขภาพช่องปาก ยิ่งมีความจำเป็นต้องเป็นมาตรการเชิงรุก เนื่องจากการเข้าถึงบริการ มีความยุ่งยากมากขึ้น เป็นอุปสรรคทำให้สูญเสียโอกาสเข้าถึงบริการ

 

อย่างไรก็ตามสำหรับการเพิ่มสิทธิการตรวจสุขภาพช่องปากเชิงป้องกันและการรักษาทันตกรรมนั้น พบว่าประชากรไทยทั้งหมดมีหลักประกันด้านสุขภาพ ภายใต้สามกองทุนสุขภาพหลัก คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลราชการ หรือ สวัสดิการของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งสิทธิที่ประชาชนได้รับในการตรวจสุขภาพจากกองทุนและสวัสดิการมีความแตกต่างกันมาก

ผลการศึกษาจากการสัมภาษณ์และตรวจสุขภาพช่องปากโดยทันตแพทย์ 2 ในช่วงปี2558 ถึง ปี2559 พบว่า ผู้ที่ถือสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการมีจำนวนฟันผุน้อยกว่า แต่มีจำนวนฟันอุดมากกว่าสิทธิอื่น ส่วนผู้ที่ถือสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีสภาวะปริทันต์อักเสบมากที่สุด และพบว่าผู้ที่ได้รับการตรวจสุขภาพช่องปากแบบครอบคลุม จะมีสุขภาพช่องปากและฟันดีกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการตรวจแบบครอบคลุม

โดยมีข้อเสนอแนะว่า การตรวจสุขภาพช่องปากแบบครอบคลุม มีความสำคัญต่อการส่งเสริมการมีสภาวะสุขภาพช่องปากที่ดีของวัยทำงาน  นอกจากนี้ยังพบว่าอุปสรรคของการเข้าถึงบริการทันตกรรม  อาจเป็นดังนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินของกองทุนระบบสุขภาพต่างๆ แตกต่างกัน,สิทธิประโยชน์ของสวัสดิการที่ไม่ครอบคลุม, และระยะเวลารอคอยรับการรักษานาน ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมให้กลุ่มวัยทำงานเข้ารับบริการทันตกรรมเพิ่มขึ้น เพื่อป้องการสูญเสียฟันโดยให้สิทธิในการตรวจสุขภาพช่องปากเชิงป้องกันประจำปี และ ตรวจครั้งต่อไปหลังการรักษาตามกำหนดนัดของทันตแพทย์ เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพดี

อย่างไรก็ตามจากการประชุมสมัชชาสุขภาพ ปี 2561 มีการหารือถึงประเด็นหลัก คือ “การเข้าถึงบริการทันตกรรม” โดยทันตแพทยสภาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสนอให้ มีการขยายสิทธิประโยชน์ทันตกรรมในส่วนประกันสังคมที่จำกัดสิทธิเพียง 900 บาทต่อปี ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันของทุกกองทุน และในการขับเคลื่อนการพัฒนาบริการทันตกรรมของทั้ง 3 กองทุน

พร้อมเสนอให้มีการวิจัยเพื่อจัดตั้ง “กองทุนทันตกรรม” เนื่องจากข้อมูลด้านทันตกรรมแสดงให้เห็นว่า มีคนไทยจำนวนมากที่เป็นโรคในช่องปาก เฉพาะภาวะอักเสบในช่องปากและหินปูนถึงร้อยละ 70-80 แต่อัตราการเข้ารับบริการทันตกรรมมีแค่ร้อยละ 8 เท่านั้น สาเหตุหลักเป็นเพราะระบบบริการทันตกรรมที่ไม่เอื้อให้เข้าถึงบริการ และทั้ง 3 กองทุนสุขภาพหลักยังมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ ทันตแพทยสภามองว่าคนไทยควรได้รับบริการทันตกรรมที่ปลอดภัย มีคุณภาพมาตรฐานและเท่าเทียมกัน