เปรียบเทียบสิทธิรักษาฟัน 3 กองทุน เปิดข้อเสนอขับเคลื่อนนโยบาย 80/20 สุขภาพช่องปากเพื่อผู้สูงอายุ ตอนที่7

เปิดข้อเสนอขับเคลื่อนนโยบาย 80/20 สุขภาพช่องปากเพื่อผู้สูงอายุ ตอนที่7 : เปรียบเทียบสิทธิรักษาฟัน 3 กองทุน

 

คนไทยกว่า 66 ล้านคน มีหลักประกันด้านสุขภาพภายใต้ 3 กองทุนสุขภาพหลัก คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ หรือสวัสดิการของหน่วยงานต่างๆ โดยสิทธิที่ประชาชนได้รับในการตรวจสุขภาพจากกองทุนและสวัสดิการมีความแตกต่างกันมาก รายงาน “จัดทำข้อเสนอการขับเคลื่อนนโยบาย 8020 สุขภาพช่องปากเพื่อผู้สูงอายุ” โดย   ทพญ.ฉวีวรรณ ภักดีธนากุล  ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ได้เปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ทางทันตกรรมประเทศไทย ใน 3 กองทุนสุขภาพ พบความแตกต่างดังนี้

 

ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ครอบคลุมบริการ ดังนี้

  • ​ถอนฟันในกรณีปกติ

  • ​ศัลยศาสตร์ช่องปาก ผ่าฟันคุด

  • ​อุดฟันทุกชนิด ขูดหินปูน เกลารากฟัน รักษาโรคเหงือก ศัลย์ปริทันต์

  • ​การครอบฟัน การใส่เดือยฟัน (ต้องควบคู่กับการท้าครอบฟัน)

  • ​การใส่ฟันปลอมฐานอคริลิค ฟันปลอมฐานโลหะ

  • ​การตรวจวินิจฉัยสภาพของโรคในช่องปาก รวมทั้งการให้ยาก่อน/หลังการรักษา และการตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยา รับบริการได้โดยมีเงื่อนไข เบิกจ่ายได้ตามอัตราราคาที่กำหนด ส่วนที่เบิกไม่ได้

  • ​เคลือบฟลูออไรด์

ระบบประกันสังคม ครอบคลุมบริการ ดังนี้

  • ผู้ประกันตนสามารถใช้บริการทันตกรรมที่สถานพยาบาลใดก็ได้
  • การถอนฟันอุดฟันขูดหินปูนและผ่าตัดฟันคุดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริง 900 บาท/ครั้ง/ปี
  • กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วนให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาทภายในระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่ใส่ฟันเทียมนั้นตามหลักเกณฑ์ดังนี้

(ก) 1-5 ซี่ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,300 บาท

(ข) มากกว่า 5 ซี่ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท

  • กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาทภายในระยะเวลา 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียมนั้นตามหลักเกณฑ์ดังนี้
  • ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนหรือล่างเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 2,400 บาท

ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครอบคลุมบริการ ดังนี้

  • ถอนฟันในกรณีปกติ
  • ศัลยศาสตร์ช่องปากผ่าฟันคุด (ยกเว้นการผ่าฟันคุดที่ไม่มีอาการหรือเพื่อการจัดฟัน)
  • อุดฟันทุกชนิดขูดหินปูนเกลารากฟันรักษาโรคเหงือกศัลย์ปริทันต์
  • การใส่ฟันปลอมฐานอคริลิค
  • การตรวจวินิจฉัยสภาพของโรคในช่องปากรวมทั้งการให้ยาก่อน/หลังการรักษาและการตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยารับบริการได้ตามความจำเป็นที่หน่วยบริการประจำโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

 

จะเห็นได้ว่าผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ไม่มีสิทธิ การตรวจวินิจฉัยสภาพของโรคในช่องปาก เพียงกลุ่มเดียว โดยผู้ประกันตนส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยทำงาน มักจะมาพบทันตแพทย์เมื่อมีอาการ ด้วยภาระงาน และโรคในช่องปากและฟันยังไม่แสดงอาการ ทำให้ละเลยการตรวจสุขภาพช่องปากไป  มักจะยอมรับว่าฟันก็ต้องเสียไปเป็นธรรมดาเมื่ออายุมากขึ้น จึงไม่ได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ และเมื่อโรคลุกลามมากการรักษายุ่งยาก ราคาแพงขึ้น ส่งผลให้เกิดสูญเสียฟันอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ก็จะมีฟันเหลืออยู่น้อยไม่พอสำหรับการบดเคี้ยวที่ดี

ส่วนระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ แม้จะมีสิทธิการตรวจวินิจฉัยสภาพของโรคในช่องปาก แต่ยังจำกัดอยู่ในเฉพาะโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งต้องคอยคิวการรักษาที่ยาวมาก ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการเช่นกัน จึงต้องพิจารณาสิทธิการเข้ารับบริการในคลินิกเอกชน เพื่อส่งเสริมการตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน  สิทธิการตรวจสุขภาพในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีอยู่แล้ว ต้องให้มีการยกระดับจาการตรวจปกติ

ผลการศึกษายังระบุถึงสิทธิประโยชน์ทางทันตกรรมในต่างประเทศด้วย โดยพบว่า ประเทศญี่ปุ่น ระบบการดูแลสุขภาพถ้วนหน้าของญี่ปุ่นประชาชนสามารถไปที่คลินิกทันตกรรมใดก็ได้และรับการรักษาในขณะที่ร่วมจ่ายเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล

ส่วนประเทศมาเลเซีย ประสบความสำเร็จ ในด้านการดูแลสุขภาพแบบถ้วนหน้า โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายสูงถึง 98 เปอร์เซ็นต์ ในการรับบริการที่คลินิกทันตกรรม ในการทำฟันขั้นพื้นฐาน เช่นการขูดหินปูน การครอบฟัน การอุดฟัน และการถอนฟัน โดยจะมีราคาอยู่ระหว่าง 1RM (7.50บาท) ถึง 4 RM (30บาท) เท่านั้น

โดยรายงานฉบับนี้ ยังเสนอให้มีการ ผลักดันกองทุนประกันสังคม ให้เพิ่มสิทธิ์ การตรวจวินิจฉัยสภาพของโรคในช่องปาก ให้สามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากอย่างครอบคลุมในครั้งแรก และการตรวจครั้งต่อไปเป็นระยะ เพื่อให้เท่าเทียมสิทธิอื่น เป็นการตรวจวินิจฉัยเชิงป้องกันปัญหาและผลกระทบจากการสูญเสียฟัน อันจะเป็นเหตุให้เหลือฟันไม่ถึง 20ซี่ ในวัย80 ซึ่งไม่เพียงพอต่อการบดเคี้ยวที่ดี

พร้อมทั้งทบทวนสิทธิการรักษาทางทันตกรรมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เช่น การจำกัดสิทธิในการเลือกโรงพยาบาลของสิทธิข้าราชการ ที่ต้องรอคิวนานในโรงพยาบาลรัฐ และเพิ่มค่าชดเชยให้แก่หน่วยบริการ ตามภาระงานที่เพิ่มรวมถึงรณรงค์ทันตแพทย์ ทันตาภิบาล ให้เข้าร่วมกิจกรรม โดยหน่วยบริการพิจารณาค่าตอบแทนให้ตามสมควร เพื่อเป็นแรงจูงใจด้วย