เปิดรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย 2562 ตอนที่ 1 ผู้สูงอายุโลก เอเชียครองแชมป์คนแก่มากที่สุด ขณะที่แอฟริกา รั้งท้าย ยังอยู่ในสังคมเยาว์วัย

เปิดรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย 2562 ตอนที่ 1 : ผู้สูงอายุโลก เอเชียครองแชมป์คนแก่มากที่สุด ขณะที่แอฟริกา รั้งท้าย ยังอยู่ในสังคมเยาว์วัยมีเพียงทวีปแอฟริกาเพียงทวีปเดียวบนโลกใบนี้เท่านั้นที่ยังไม่เป็นสังคมสูงวัยขณะที่ทวีปที่เหลือเป็นสังคมผู้สูงวัยทั้งหมด ในรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยพ.ศ. 2562 โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ระบุว่า ในปี 2019 โลกมีประชากร จำนวน 7,713 คนล้านคน

โดยทวีปเอเชีย เป็นทวีปที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก คือ 586 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุตอนปลาย (80ปีขึ้นไป) มากถึง70 ล้านคน  องลงมาคือทวีปยุโรป มีผู้สูงอายุ 189 ล้านคน

ขณะที่ทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นเพียงทวีปเดียวที่ยังไม่เป็นสังคมสูงวัย มีสัดส่วนประชากรอายุ 60ปีขึ้นไปเพียงร้อยละ 5 ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น และยังเป็นสังคมเยาว์วัย ที่มีสัดส่วนประชากรเด็ก (อายุต่ำกว่า15ปี) สูงถึงร้อยละ 41

สำหรับประเทศที่มีประชากรสูงอายุมาก 5 อันดับแรกของโลก ได้แก่

อันดับที่ 1 จีน มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 241 ล้านคน

อันดับที่ 2 อินเดีย มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 135 ล้านคน

อันดับที่ 3 สหรัฐอเมริกา มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 74 ล้านคน

อันดับที่ 4 อินโดนีเซีย มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 26 ล้านคน

อันดับที่ 5 ปากีสถาน มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 14 ล้านคน

หากคิดเป็นสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมด 5 ประเทศที่มีอัตราผู้สูงอายุสูงสุดในโลก ดังนี้ อันดับที่ 1 ญี่ปุ่น ร้อยละ 34.0 จากประชากรทั้งหมด 127 ล้านคน โดยเป็นผู้สูงอายุวัยปลายมากถึง 11 ล้านคน

อันดับที่ 2 อิตาลี ร้อยละ 29.4 อันดับที่ 3 โปรตุเกส ร้อยละ 28.9 อันดับที่ 4 ฟินแลนด์ ร้อยละ 28.6 และอันดับที่ 5 มาร์ตินีก ร้อยละ 28.4 ส่วนประเทศที่มีอัตราผู้สูงอายุต่ำที่สุด 5 ประเทศ คืออันดับที่ 1 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ร้อยละ 2.8 อันดับที่ 2 ยูกันดา ร้อยละ 3.2 อันดับที่ 3 กาตาร์ ร้อยละ 3.2 อันดับที่ 4 แชมเบีย ร้อยละ 3.4 และอันดับที่5 แองโกลา ร้อยละ3.6

รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยพ.ศ. 2562 ระบุด้วยว่า ในขณะที่ประชากรโลกกำลังเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่ช้าลง ประชากรสูงอายุกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไปหรือ “ศตวรรษิกชน” กำลังมีสัดส่วนสูงขึ้นอย่างเร็วมากเนื่องจากประชากรโลกมีอายุยืนยาวขึ้น

โดยในปี 2019 สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีศตวรรษิกชน มากที่สุดในโลกหรือประมาณ 90,000 คน รองลงมาคือ ญี่ปุ่นมีประมาณ 73,200 คน ตามด้วยจีน 67,800 คน อินเดีย 44,800 คน และเวียดนาม 22,800 คน

ขณะที่ในประเทศไทย กระทรวงมหาดไทย รายงานว่าในปี 2019 ประเทศไทยมีคน 100 ปี จำนวน 26,711 คนเป็นชาย 12,705 คนและเป็นหญิง 14,006 คน

อย่างไรก็ตามการศึกษาเรื่องศึกษาศตวรรษิกชนคน 100 ปีในประเทศไทยในปี 2558 คณะผู้วิจัยได้ทำการสุ่มตัวอย่างคน 100 ปีตามหลักฐานของกระทรวงมหาดไทย พบว่าคน 100 ปีที่ศึกษา น่าจะมีชีวิตอยู่จริงไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนที่รายงานในทะเบียนราษฎร  ด้วยสาเหตุที่คน 100 ปีจำนวนหนึ่งเสียชีวิตไปแล้ว อีกจำนวนหนึ่งไม่พบตัวตนตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน ขณะที่อีกจำนวนหนึ่งปีเกิดที่บันทึกไว้ในทะเบียนคาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง โดยอายุจริงจะไม่ถึง 100 ปี