เปิดรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย 2562 ตอนที่ 2 : ประวัติศาสตร์ใหม่ จำนวนผู้สูงอายุมากกว่าเด็กเป็นปีแรก
ปี 2562 นับเป็นปีแรกในประวัติศาสตร์ที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีโดยประชากรผู้สูงอายุในปี 2562 มีมากถึง 11.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.5 ของประชากรทั้งหมดจำนวน 69.3 ล้านคน
แบ่งเป็น “ผู้สูงอายุวัยต้น” อายุ 60-69ปี จำนวน 7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 60.4 ของผู้สูงอายุทั้งหมด
“ผู้สูงอายุวัยกลาง” อายุ 70-79 ปี มีจำนวน 3.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 28 ของผู้สูงอายุทั้งหมด
และ “ผู้สูงอายุวัยปลาย” 80 ปีขึ้นไปจำนวน 1.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 11.6 ของผู้สูงอายุทั้งหมด
รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยพ.ศ. 2562 โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ระบุว่า 20ปีที่ผ่านมา ประชากรไทยเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่ช้ามาก คือเพิ่มไม่ถึงร้อยละ 0.5 ต่อปี ต่างกับในอดีตเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน ประชากรไทยเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่สูงมากคือเฉลี่ยกว่าร้อยละ 3 ต่อปี
ประเทศไทยมีประชากรครบ 60 ล้านคนเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2539 แต่จนถึงปัจจุบันเวลานานกว่า20ปี ประชากรไทยยังคงมีจำนวนอยู่ที่หลัก 60 ล้านคน
สำหรับอัตราการเกิดในปี 2562 พบว่ามีเด็กเกิดเพียง 6 แสนคนเท่านั้น ในขณะที่จำนวนคนตายในประเทศเพิ่มขึ้นถึง 5 แสนคน ซึ่งปี 2562 ถือเป็นปีแรกที่จำนวนคนตายในประเทศไทยมีจำนวนถึงหลัก 5 แสนคน
จำนวนเกิดที่ลดลง แต่จำนวนการตายที่เพิ่มขึ้น ทำให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ว่าในปี 2571 ประชากรของไทยจะมีอัตรา “เพิ่มติดลบ”
รายงานการคาดประมาณประชากรของประเทศไทยปี 2553- 2583 (ฉบับปรับปรุง) คาดประมาณว่า ในพื้นที่ภาคเหนือจะเป็นภาคที่มีอัตราผู้สูงอายุสูงสุดคือร้อยละ 22 รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่คาดว่าจะมีอัตราผู้สูงอายุร้อยละ 20 ตามด้วยภาคกลางและภาคใต้ที่มีอัตราผู้สูงอายุต่ำสุดคือประมาณร้อยละ 15
และในปี 2565 ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ หรือหมายถึงสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 20 ก่อนที่ในปี 2576 ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด หรือมีสัดส่วนประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป สูงขึ้นถึงร้อยละ 28
การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรสูงอายุนี้ นับเป็นความท้าทายในการจัดสวัสดิการสังคมให้กับผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีในวาระสุดท้ายของชีวิตที่พึงได้รับจากรัฐ