เปิดรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย 2562 ตอนที่ 3 สวัสดิการสังคมของผู้สูงอายุ

เปิดรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย 2562 ตอนที่ 3 : สวัสดิการสังคมของผู้สูงอายุ

คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง : จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ของศ.ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้อธิบายคำว่า “สวัสดิการสังคม” ผ่านวงจรชีวิตของคนในสังคมแต่ละช่วงวัย ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตที่คนไทยพึงได้รับจากรัฐ

“ผู้สูงอายุ” นับเป็นประชากรอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญที่สังคมพึงให้ความคุ้มครอง ด้วยการจัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสม และจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี และคงไว้ซึ่งภาวะสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้นานที่สุด เพราะนับได้ว่า “ผู้สูงอายุเป็นหลักชัยของสังคม”

โดยรูปแบบการจัดสวัสดิการสังคม “4เสาหลัก”  ประกอบด้วย เสาหลักที่ 1  การให้บริการทางสังคม โดยการให้บริการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนทุกคน ด้วยการใช้แนวคิดสวัสดิการถ้วนหน้า เน้นความครอบคลุม ความเสมอภาค ความเท่าเทียม การเข้าถึงสิทธิ์และการได้รับบริการที่ได้มาตรฐาน

เสาหลักที่ 2 การประกันสังคม คือ การให้ความคุ้มครองทางสังคมโดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มประชากรผู้ใช้แรงงาน หรือผู้มีรายได้ โดยผู้ประกันตนจะต้องร่วมจ่ายเงินสมทบ จึงจะได้รับสวัสดิการการประกันสังคมครอบคลุมสิทธิประโยชน์ทางสวัสดิการในหลายด้านรวมถึงการชราภาพ

เสาหลักที่ 3 การช่วยเหลือทางสังคมการให้ความช่วยเหลือทางสังคม ด้วยการให้การสงเคราะห์แก่ประชาชนที่อยู่นอกขอบข่ายการประกันสังคมในลักษณะต่างๆ เป็นรูปแบบการจัดสวัสดิการที่มุ่งดูแลผู้ด้อยโอกาสผู้ยากไร้ ผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำ ผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และผู้ที่ต้องพึ่งพิงผู้อื่น ทั้งในรูปของเงิน สิ่งขอ งอาหาร การให้คำปรึกษาแนะนำ และการส่งตัวเข้าพักอาศัยในสถานสงเคราะห์

และเสาหลักที่4 การสนับสนุนหุ้นส่วนทางสังคม คือการส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมจัดสวัสดิการสังคม ทั้งในรูปของการส่งเสริมจิตอาสา การสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวอาสาสมัคร ชุมชนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม รวมถึงภาคเอกชนเพื่อให้การจัดสวัสดิการสังคมสามารถดำเนินการได้ดียิ่งขึ้น และตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของคนในสังคม

แต่ทว่ารูปแบบการดำรงชีวิต และความต้องการของผู้สูงอายุ ต่อการได้รับสวัสดิการสังคมมีความแตกต่างและมีลักษณะเฉพาะ เมื่อเทียบกับประชากรกลุ่มวัยอื่นในสังคม

เนื่องจาก “ผู้สูงอายุ” ไม่ใช่บุคคลด้อยโอกาส หรือเป็นภาระต่อสังคม แต่นับเป็นผู้ที่มีความรู้ ประสบการณ์ และได้สร้างคุณูปการต่อการพัฒนาสังคมมาอย่างยาวนาน

ดังนั้นผู้สูงอายุทุกคน รวมถึงผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะยากลำบาก ควรได้รับการเคารพ และสามารถมีส่วนร่วมเป็นพลังพัฒนาสังคม ตลอดจนได้รับการพัฒนาและเกื้อกูลจากครอบครัว ชุมชน สังคมและรัฐอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี และคงไว้ซึ่งภาวะสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้นานที่สุด

โดยพระราชบัญญัติผู้สูงอายุแห่งชาติพ.ศ.2546  ได้กำหนดสิทธิที่ผู้สูงอายุเพิ่งได้รับ 7 ด้านด้วยกัน ประกอบด้วย การศึกษา สุขภาพอนามัย ที่อยู่อาศัย การทำงานและการมีรายได้ นันทนาการ กระบวนการยุติธรรม และบริการสังคมทั่วไป

ที่มา : รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยพ.ศ. 2562 โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย

 

/////