รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายไทยพบผู้สูงอายุใช้สิทธิกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมากที่สุดถึง 81 เปอร์เซ็นต์

เปิดรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย 2562 ตอนที่ 5 :  ผู้สูงอายุใช้สิทธิกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมากที่สุดถึง 81 เปอร์เซ็นต์

 

“การจัดสวัสดิการสังคมด้านสุขภาพอนามัยแก่ผู้สูงอายุในประเทศไทย ถือเป็นสิทธิของพลเมืองไทยทุกคน” ผู้สูงอายุไทยสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขผ่าน 3 กองทุนสุขภาพหลักของรัฐ คือสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง

รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยพ.ศ. 2562 โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ระบุว่า ในปี 2562 ผู้สูงอายุไทย ใช้สิทธิบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมากที่สุด ถึงร้อยละ 81 รองลงมาคือสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ร้อยละ 17 และสิทธิอื่นๆร้อยละ 2

นอกจากนี้พระราชบัญญัติผู้สูงอายุพ.ศ. 2546 ยังกำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบมีหน้าที่ต้องจัดบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขที่จัดไว้ โดยให้ความสะดวกและความรวดเร็วแก่ผู้สูงอายุเป็นกรณีพิเศษ เช่น ในหน่วยบริการระดับโรงพยาบาลของรัฐ จัดให้มีช่องทางเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุแยกจากผู้รับบริการทั่วไปในแผนกผู้ป่วยนอก

สำหรับการจัดระบบการดูแลระยะยาวกับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลและอย่างเหมาะสมนั้น  ที่ผ่านมารัฐบาลสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อบริหารจัดการเป็นค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง(กลุ่มติดบ้านและกลุ่มติดเตียง) ให้กับหน่วยบริการและกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น

โดยในปี 2562 ได้สนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากงบเหมาจ่ายรายหัว เฉพาะในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 916.8 ล้านบาท ให้แก่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อดูแลผู้สูงอายุ กลุ่มติดบ้านและกลุ่มติดเตียง โดยผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงจะได้รับบริการและการดูแล 2 ประเภท คือ บริการด้านการแพทย์ เช่น การตรวจคัดกรองประเมินความต้องการการดูแล บริการเยี่ยมบ้านบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค บริการกายภาพบำบัด บริการกิจกรรมบำบัด และอุปกรณ์เครื่องช่วยทางการแพทย์และบริการด้านสังคม เช่น บริการช่วยเหลืองานบ้าน การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน บริการอุปกรณ์ช่วยเหลือทางด้านสังคม หรือกิจกรรมนอกบ้าน โดยเป้าหมายในการดำเนินงานในปี 2562 ที่วางไว้จะมีผู้สูงอายุกลุ่มที่มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลจำนวน 152,800 รายทั่วประเทศ แต่ปรากฎว่าผลการดำเนินงานเกินเป้า มีผู้สูงอายุกลุ่มที่มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลอยู่ที่  219,518 ราย หรือร้อยละ 144

ส่วนสถานการณ์ของผู้ดูแลผู้สูงอายุในปี 2562 พบว่ามีจำนวน 77,853 คน มีผู้จัดการดูแลผู้สูงอายุ(ยอดสะสม) จำนวน 12,843 คน และมีแผนจัดทำการดูแลผู้สูงอายุ (ยอดสะสม) จำนวน 167,118 ฉบับ   โดยสปสช.ได้กำหนดค่าตอบแทนให้กับผู้ดูแลผู้สูงอายุโดยให้ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ที่ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงตั้งแต่ 5-10คนได้รับการสนับสนุนไม่เกิน 1,500 บาทต่อเดือน และผู้ดูแลผู้สูงอายุที่ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงน้อยกว่า5คน ได้รับการสนับสนุนไม่เกิน 600 บาทต่อเดือน

นโยบายนี้จะทำให้ผู้สูงอายุที่อยู่ติดบ้านติดเตียงได้รับการดูแลจากทีมสหสาขาวิชาชีพจากหน่วยบริการปฐมภูมิ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลบริการดูแลด้านสุขภาพถึงที่บ้านอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยการมีส่วนร่วมของครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีเข้าถึงบริการอย่างถ้วนหน้าและเท่าเทียมอีกทั้งยังเป็นการสร้างความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆควบคู่กันไป กลับการพัฒนาที่หมอครอบครัวและอาสาสมัครรูปแบบต่างๆในชุมชน