เปิดรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย 2562 ตอนที่ 6 : เน้นอยู่อาศัยในที่เดิม – เร่งสร้างที่พักต้นแบบ
สวัสดิการสังคมด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุไทย มีด้วยกัน 2 แบบ โดยแบบที่1 เป็นการอยู่อาศัยในที่เดิม ( Ageing in place) ของผู้สูงอายุ ซึ่งก็คือ การปรับปรุง ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้สูงอายุ และอีกแบบหนึ่งคือการสร้างที่อยู่อาศัยเชิงสถาบัน เช่น การสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ การสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การสร้างสถานที่พักพิงระยะสุดท้าย และการสร้างบ้านพักคนชรา
สำหรับ “การอยู่อาศัยในที่เดิม” ในปี 2562 กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ จำนวน 3200 แห่งวงเงินงบประมาณกว่า 78 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเป้าที่วางเอาไว้
นอกจากนี้ในแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ได้มีการกำหนดเป้าหมายระยะยาวในการปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุจำนวน 447,618 หลัง และปรับปรุงที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุรูปแบบประชารัฐจำนวน 14,500 หลังด้วย
โดยการปรับปรุงที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุรูปแบบประชารัฐนั้น ได้มีการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ บริษัทSCG ในรูปแบบของนโยบายที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อช่วยซ่อมแซมบ้านของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยเป็นหลัก
ขณะเดียวกันกรมกิจการผู้สูงอายุอย่างได้ดำเนินโครงการสร้างชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ด้วยการปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกในที่สาธารณะ หรือสถานที่ที่ผู้สูงอายุทำกิจกรรมร่วมกัน หรือใช้ประโยชน์ร่วมกัน ให้มีความเหมาะสมปลอดภัยต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ โดยในปี 2562 มีชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนรวม 20 แห่ง
ส่วนการสร้างที่อยู่อาศัยเชิงสถาบันนั้น ภาครัฐมีการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะยากลำบาก ผ่านการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้น 12 แห่ง ให้บริการใน 4 ลักษณะ คือ ศูนย์บริการผู้สูงอายุกลางวัน ศูนย์บริการเลี้ยงดูผู้สูงอายุแบบเช้าไป-เย็นกลับ บ้านพักฉุกเฉินบริการที่พักชั่วคราวไม่เกิน 15 วัน และบ้านพักผู้สูงอายุ 3 ประเภท คือสามัญ หอพัก และปลูกบ้านอยู่เอง
โดยในปี 2562 พบว่าจำนวนผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุทั้ง 12 แห่งนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 1,532 คนขณะเดียวกันยังมีการถ่ายโอนภารกิจด้านการดูแลผู้สูงอายุ ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีสถานสงเคราะห์คนชราจำนวน 13 แห่ง และศูนย์บริการทางสังคมผู้สูงอายุอีก 2 แห่งที่อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
อย่างไรก็ตามศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุและสถานสงเคราะห์คนชราแต่ละแห่ง สามารถรองรับผู้สูงอายุไว้ในการสงเคราะห์ได้เฉลี่ยเพียงแห่งละ 150 -200 คน ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก โดยเฉพาะหากเทียบกับจำนวนผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยทั้งหมดในประเทศที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตด้วยเหตุนี้ในปี 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ 4 มาตรการ โดยหนึ่งในนั้นคือ มาตรการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ
ในปี 2562 กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ร่วมมือกับคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาและก่อสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ในโครงการสร้างที่พักอาศัย สำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร ภายใต้ชื่อโครงการ “ที่พักอาศัยผู้สูงอายุรามา-ธนารักษ์” บนที่ดินราชพัสดุที่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินการข้อตกลงกับคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่จะเป็นผู้พัฒนาศูนย์วิจัยดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะแบบครบวงจร
ที่สำคัญโครงการนี้จะใช้เป็นต้นแบบในการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทยต่อไป แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการนี้จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป
ที่มา : รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยพ.ศ. 2562 โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย