แพทย์ชี้เหตุผู้สูงอายุฆ่าตัวตาย คับแค้น-รู้สึกไร้ค่าแนะลูกหลานเสริมพลังบวกยกย่องผู้สูงวัย

แพทย์ ชี้ เหตุผู้สูงอายุฆ่าตัวตาย คับแค้นรู้สึกไร้ค่า เลือกวิธีที่ตายจริง แนะลูกหลานเสริมพลังบวกยกย่องผู้สูงวัย

ตาวัย 75 เครียดโควิด กลืนตะปูลวดเหล็ก หวังฆ่าตัวตาย สุดท้ายปวดท้องหนักต้องผ่าตัด” คือพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา   “ภาวะเครียด” ในผู้สูงอายุจนนำไปสู่การทำร้ายร่างกาย และฆ่าตัวตายนั้น มีความแตกต่างไปจากกลุ่มช่วงวัยอื่น

ผศ.พญ. สิรินทร  ฉันศิริกาญจน อาจารย์ประจําสาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ปกติแล้วจะพบว่าในคนอายุน้อยหลายครั้งการพยายามฆ่าตัวตาย มาจากความน้อยใจและอารมณ์ชั่ววูบ แต่ทว่าในผู้สูงอายุกลับต่างกัน

 “ผู้สูงอายุเห็นร้อนเห็นหนาวกันมาระดับหนึ่งแล้ว โอกาสที่จะกินยาฆ่าแมลงประท้วง หรือเอามีดกรีดตัวเอง เพื่อประท้วงคนรัก จะไม่มีแล้ว แต่ถ้าผู้สูงอายุต้องการฆ่าตัวตาย ถือเป็นเรื่องที่เขาต้องคับแค้นมาก”  ยังมีอีกหนึ่งสาเหตุ  คือ ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า และตั้งคำถามกับการดำรงอยู่ของตัวเองว่า “อยู่ไปทำไม”

            “เราต้องมองว่าเขาอยู่ในช่วงขาลง หน้าที่การงานก็เปลี่ยนไป จากที่เคยเป็นหัวหน้าครอบครัว อาจจะต้องรอรับจากคนอื่น การให้จะทำให้มีอำนาจ แต่พอมารับทำให้คนสูญเสียตัวตน สูญเสียอะไรหลายๆ และถ้าคนที่ให้ ทำให้รู้สึกแย่  ไม่ได้ให้เพราะความรู้สึกเทิดทูน หรือความรู้สึกดีๆที่อยากตอบแทน เป็นการให้แบบเสียไม่ได้ จะทำให้คนที่ได้รับ ไม่มีความนับถือตัวเอง สูญเสียศักดิ์ศรี ความมั่นใจต่างๆไปหมด”

           กรณีที่ผ่านมาจะพบว่า การตัดสินใจฆ่าตัวตายของผู้สูงอายุ จึงเป็นความพยายามฆ่าตัวตาย ที่ต้องการ “ตายจริง” และเลือกวิธีการที่ทำให้ “ตายแน่” ไม่ว่าจะเป็นการแขวนคอ หรือ ใช้อาวุธปืนยิงตัวเอง

อย่างไรก็ตามระหว่างทางก่อนที่นำไปสู่การตัดสินใจจบชีวิตตัวเองของผู้สูงอายุ สมาชิกในบางครอบครัวไม่ได้สังเกตถึงพฤติกรรมที่ผิดปกติของผู้สูงอายุแต่อย่างใด  คนในครอบครัวอาจจะไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ หรือ อาจจะไม่เคยสังเกตกันมาก่อนเลย”

        สำหรับแนวทางการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะเครียดจนนำไปสู่การทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายนั้น ผศ.พญ. สิรินทร ระบุว่า ลูกหลานต้องเข้าใจว่า เมื่อถึงวัยสูงอายุจะเป็นช่วงขาลงของทุกคน ดังนั้นลูกหลานมีหน้าที่ที่จะต้อง “เสริม” หยิบยกสิ่งดีๆของผู้สูงอายุขึ้นมา เช่น ความซื่อสัตย์ การไม่ทำร้ายลูกเมีย โดยที่อย่าไปยึดติดเฉพาะความสำเร็จในชีวิตเท่านั้น

      “ลูกหลานก็ต้องมองให้ออกให้ได้ว่า คนที่อยู่กับเราเขามีดีอะไร บอกเขาเรื่อยๆว่าเรารู้สึกชื่นชมเขา เขาอาจจะไม่ได้มีบ้านใหญ่โตให้เรา หรือว่าเขาไม่ได้อยู่ในตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี เพราะเขาเองการศึกษาก็ไม่ได้เยอะ แต่เขาก็เป็นคนที่ก่อร่างสร้างตัวมา อย่าเอาคนของเราไปเทียบกับคนอื่น อย่าเทียบพ่อแม่เรากับพ่อแม่คนอื่น เขาเป็นอย่างที่เขาเป็น และมองหาจุดบวกของคนที่อยู่รอบๆตัวได้ และเอาจุดบวกนั้นเป็นตัวที่จะหล่อเลี้ยงใจ  ที่สำคัญลูกหลานอย่าเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง”

          ส่วนพฤติกรรมของผู้สูงอายุที่อาจจะทำให้ลูกหลานเกิดความเบื่อหน่าย เช่น การย้ำคิดย้ำทำ และ ขี้บ่นนั้น ผศ.พญ. สิรินทร มองว่า พฤติกรรมเหล่านี้แก้ไขไม่ได้ เพราะผู้สูงอายุเป็นเช่นนี้นานแล้ว เพราะฉะนั้นจะต้องอยู่ด้วยกันให้ได้อย่างสันติวิธี และเติมความปราถนาดีให้กันเสมอ

        “ต้องมีการยกย่อง มีเวลาดีๆให้กัน วันพ่อ วันแม่ บางที 364 วันตลอดทั้งปีเราไม่ได้ทำเลย แต่วันพ่อต้องมารับเขา ๆ ก็จะจำวันนี้ ว่าไม่ต้องกลัวถึงเวลาลูกจะมารับไปกินข้าว เขาจะรู้สึกว่าเขามีค่า และเขาจะรอ  และลูกหลานลงทุนไม่ได้เยอะเลย”

         แต่หากครอบครัวใดมีเงื่อนปมในใจที่ฝังลึก มีความโกรธ ความเกลียดต่อกันมาก ลูกหลานจะต้องคิดว่าทุกคนต่างมีเหตุผลของตัวเอง คนเป็นลูกหลานจะต้อง “น้อม” เข้าหาผู้สูงวัยในครอบครัว

         “เราไม่แก้ของที่ผ่านมาแล้ว แต่แก้ของวันนี้  ตัวเราต้องน้อมตัวเรา ปรับให้กับผู้สูงอายุ อย่าไปโกรธแค้นผู้สูงอายุ ต้องจบ ทุกคนต้องรู้ว่าเราต้องก้าวไปข้างหน้าเหมือนกัน ซึ่งไม่ง่ายนะ แต่ละคนมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆกัน ต้องพยายามเข้าใจกันทั้งสองฝั่ง เพราะต้องอยู่ด้วยกัน ถ้าเขาตายไป ยังไง จะยิ่งรู้สึกผิดไปอีกหรือเปล่า”

ทั้งนี้มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ ได้จัดทำ คู่มือการดูแลผู้สูงอายุ “สูตรคลายซึมเศร้า”  โดยประมวลความรู้และถอดบทเรียนจากประสบการณ์ของผู้ดูแล รวมถึงบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงหรือพิการทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ จิตแพทย์ พยาบาล นักกิจกรรมบำบัด นักจิตวิทยา นักพฤฒาวิทยา เภสัชกร ผู้บริบาลชุมชนและญาติของผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่ในชุมชนเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานสาธารณสุข และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตอื่นๆ รวมถึงตัวแทนจากองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร และนักวิชาการอาวุโสด้านสุขภาพจิตผู้สูงอายุ

โดยองค์ความรู้ทั้งหมด ถูกรวบรวมจากการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไม่ต่ำกว่า 12 ครั้ง ทั้งยังจัดประชุมให้ผู้ดูแลและญาติพิจารณาเนื้อหาในคู่มืออีกไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง ครอบคลุมหัวข้อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาวะซึมเศร้าคืออะไร ภาวะซึมเศร้าต่างจากภาวะเศร้าปรกติอย่างไร แบบวัดความเศร้าในผู้สูงอายุ วิธีปฏิบัติเมื่อผู้สูงวัยมีภาวะซึมเศร้า อาหารที่ส่งผลต่ออารมณ์ กิจกรรมป้องกันภาวะซึมเศร้าเนื้อหาในคู่มือดูแลผู้สูงอายุ “สูตรคลายซึมเศร้า” นี้ จึงเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้สูงวัยและผู้ดูแล เพื่อป้องกันไม่ให้คนที่เรารักตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า

สามารถดาวน์โหลดคู่มือได้ที่ลิงค์นี้  https://1th.me/k3jBH