รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย 2562 ตอนที่ 7 มีงาน-มีเงิน ต่ออายุเกษียณ 3 ปี -สร้างแรงจูงใจภาคเอกชนจ้างงานผู้สูงวัย

เปิดรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย 2562 ตอนที่ 7 : มีงาน-มีเงิน ต่ออายุเกษียณ 3 ปี -สร้างแรงจูงใจภาคเอกชนจ้างงานผู้สูงวัย

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ คือหลักประกันด้านการทำงานและการมีรายได้  ผู้สูงอายุควรมีโอกาสประกอบอาชีพที่ก่อให้เกิดรายได้ที่พอเพียงแก่การดำรงชีพ โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้านอายุ โดยงานที่ทำจะต้องมีสวัสดิการอย่างน้อยตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และไม่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ อุบัติภัยต่างๆ

นอกจากนี้มีสิทธิที่จะได้รับข้อมูล คำปรึกษาข่าวสารตลาดแรงงาน การจัดหางาน รับสมัครงานบริการข้อมูลทางอาชีพ ตำแหน่งว่างงาน การอบรมและฝึกอาชีพ โดยมีศูนย์กลางข้อมูลทางอาชีพและตำแหน่งงานสำหรับผู้สูงอายุเป็นการเฉพาะที่สำนักงานจัดหางานทุกแห่ง

รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยพ.ศ. 2562 โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ระบุว่า แนวทางสำคัญในการส่งเสริมการทำงานผู้สูงอายุ คือการขยายอายุเกษียณ สำหรับประเทศไทยมีกำหนดอายุเกษียณของราชการไว้ที่ 60 ปี ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ได้กำหนดให้ขยายอายุเกษียณของราชการจาก 60 ปี เป็น 63 ปี เพื่อตอบสนองการเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศ

ในขณะที่นายจ้างในภาคเอกชนทั่วไปนั้น ไม่มีการกำหนดอายุเกษียณแน่นอนโดยเฉพาะ หากเป็นธุรกิจขนาดเล็ก แต่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่มักมีสัญญาจ้างถึงอายุ 55 ปี

และเพื่อเป็นการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุในภาคเอกชนรัฐบาลได้ออกมาตรการจูงใจเพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนจ้างแรงงานผู้สูงอายุเข้าทำงานมากขึ้น โดยการตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 639) พ.ศ. 2560 กำหนดสาระเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับจ้างงานผู้สูงอายุเข้าทำงาน โดยให้ยกเว้นภาษีเงินได้แก่นิติบุคคล หรือบริษัท ห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล ซึ่งรับผู้สูงวัยเข้าทำงานจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างงานผู้สูงอายุ แต่ต้องมีที่สัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนลูกจ้างในนิติบุคคลนั้น โดยค่าจ้างผู้สูงอายุจำกัดที่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน

นอกจากนี้ยังมีประกาศกระทรวงแรงงานขอความร่วมมือผู้ประกอบการหรือผู้ว่าจ้างที่จ้างผู้สูงอายุ ให้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้สูงอายุอย่างน้อยชั่วโมงละ 45 บาท และจ้างงานที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้สูงอายุ โดยกำหนดระยะเวลาการทำงานของผู้สูงอายุไม่ควรเกินวันละ 7 ชั่วโมงและไม่เกินสัปดาห์ละ 7 วัน

ยังมีอีกหนึ่งกลไกที่จะพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุในชุมชน คือ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ(ศพอส.) โดยศพอส.นี้ เป็นทั้งสถานที่จัดกิจกรรมและบริการสำหรับผู้สูงอายุในชุมชน รวมถึงสนับสนุนการประกอบอาชีพและการถ่ายทอดภูมิปัญญาผู้สูงอายุแก่ประชาชนทั่วไป ให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาเพื่อการประกอบอาชีพมากขึ้น

ในปี 2562 มีจำนวนศพอส. 1,489 แห่ง มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 988,265 คน และมีเป้าหมายจัดตั้ง ศพอส.ให้ถึง 7,776 แห่งภายในปี 2567

และหาก…ผู้สูงอายุต้องการเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพ ก็มี “กองทุนผู้สูงอายุ” เป็นแหล่งเงินกู้สำคัญ เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพสำหรับผู้สูงอายุตามความถนัดโดยไม่คิดดอกเบี้ย โดยในปี 2562 กองทุนผู้สูงอายุได้สนับสนุนเงินทุนกู้ยืมเพื่อการประกอบอาชีพของผู้สูงอายุจำนวน 8,991 คน

เบี้ยผู้สูงอายุเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุ ครอบคลุมประชาชนชาวไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ไม่ได้รับสวัสดิการหรือประโยชน์อื่นๆจากหน่วยงานของรัฐ และจะต้องมาลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย โดยรัฐให้เบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนในลักษณะขั้นบันไดตั้งแต่ 600- 1000 บาท ในปี 2562 มีผู้สูงอายุ 9.09 ล้านคน ที่ได้รับเบี้ยยังชีพ คิดเป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 71,900 ล้านบาท

สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐจะได้รับเงินเพิ่มในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คือ ถ้ารายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ได้รับเพิ่ม 100 บาทต่อเดือน และหากมีรายได้มากกว่า 30,000 บาทแต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีจะได้รับเพิ่ม 50 บาทต่อเดือน

ส่วนข้าราชการจะได้รับเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการในปี 2562 มีสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการกว่า 1.08 ล้านคนนอกจากนี้ยังมีการออมภาคบังคับ เช่น กองทุนประกันสังคม รวมไปถึงการออมภาคสมัครใจเพื่อสร้างหลักประกันด้านรายได้สำหรับผู้สูงอายุ คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบ และกองทุนการออมแห่งชาติ