เปิดรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยตอนที่ 8 : สร้างคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุด้วยกิจกรรมนันทนาการ
“พัฒนาทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สติปัญญาและสังคม รวมถึงการสร้างความผ่อนคลาย” เป็นข้อดีของการจัดกิจกรรมนันทนาการสำหรับผู้สูงอายุ การนันทนาการสำหรับผู้สูงอายุ เป็นกิจกรรมยามว่างเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจหรือความบันเทิง เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ
โดยกิจกรรมนันทนาการที่จะจัดขึ้นเป็นสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ ควรคำนึงถึงการให้โอกาสผู้สูงอายุได้มีส่วนร่วมให้มากที่สุด เพื่อช่วยให้ร่างกายมีความแข็งแรงสมบูรณ์ตลอดเวลา และเพื่อยืดอายุการเจ็บป่วยหรือภาวะพึ่งพิงออกไป
กิจกรรมนันทนาการด้านการกีฬา ที่ผ่านมาการกีฬาแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ดำเนินการให้บริการสนามกีฬาในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนและผู้สูงอายุได้ใช้สถานที่ออกกำลังและเล่นกีฬาเป็นประจำทุกวัน เช่น สวนสุขภาพ สนามฟุตบอล ฟิตเนสและสนามกีฬา ให้มีความครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ
นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการออกกำลังกายในผู้สูงอายุด้วยการลดอัตราค่าสมัครสมาชิกให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งช่วยจูงใจให้ผู้สูงอายุมีความสนใจในการออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น
ส่วนกิจกรรมนันทนาการด้านการท่องเที่ยวนั้น รัฐให้สวัสดิการสังคมแก่ผู้สูงอายุในการพักผ่อนหย่อนใจและนันทนาการ เพื่อส่งเสริมให้บุตรหลานได้มีโอกาสพาผู้สูงอายุไปท่องเที่ยวพักผ่อน ในปัจจุบันมีการยกเว้นหรือลดหย่อนค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวและนันทนาการต่างๆที่อยู่ในสังกัดหรืออยู่ในความรับผิดชอบของรัฐให้แก่ผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็น พิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน หอจดหมายเหตุ หอสมุด หอศิลป์ สวนสัตว์ อุทยานแห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์ วัดวาอาราม พระราชวัง การท่องเที่ยวเชิงเที่ยวแบบวิถีสุขภาพ
นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังมีสิทธิได้รับการจัดบริการอำนวยความสะดวกในสถานที่ท่องเที่ยว จัดกิจกรรมและโครงการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวผู้สูงอายุ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยรัฐได้กำหนดให้มีการช่วยเหลือด้านค่าโดยสารยานพาหนะตามความเหมาะสม ด้วยการลดหย่อนหรือยกเว้นค่าโดยสารให้แก่ผู้สูงอายุที่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะในรูปแบบต่างๆ โดยกระทรวงคมนาคม รัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชนด้านการขนส่งสาธารณะ ได้ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้สูงอายุโดยให้ได้รับส่วนลดพิเศษในการเดินทาง
ในปี 2556 กระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงเป็นการเฉพาะ เพื่อกำหนดลักษณะหรือจัดให้มีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกหรือบริการในอาคารสถานที่ยานพาหนะหรือบริการขนส่งเพื่อให้ผู้สูงอายุและคนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เช่น บริการรถเข็นสำหรับผู้สูงอายุ ที่นั่งพัก ห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ ทางลาดที่จอดรถเป็นการเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ
ในด้านกิจการสังคมและกิจกรรมงานอดิเรกผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนในลักษณะกลุ่ม หรือชมรมผู้สูงอายุ เพื่อให้เกิดการพัฒนาตนเองและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมภายในชุมชนหรือระหว่างชุมชน โดยการรวมกลุ่มในลักษณะเครือข่ายของผู้สูงอายุจะได้รับการสนับสนุนโดยหน่วยงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในระดับจังหวัด มีศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ และในชุมชนมีการเพิ่มสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมและบริการสำหรับผู้สูงอายุ รวมทั้งส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมาใช้พื้นที่ในรูปแบบการให้บริการจัดสวัสดิการสังคมด้านต่างๆแก่ผู้สูงอายุในชุมชน
ที่มา : รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยพ.ศ. 2562 โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย