เวทีเสวนา “บำนาญแห่งชาติและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โจทย์เก่าเล่าใหม่” แนะ วัยทำงานเริ่มออมเงินตั้งแต่วันนี้ เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายในวันที่หมดแรงทำงาน

เวทีเสวนา บำนาญแห่งชาติและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โจทย์เก่าเล่าใหม่”  เห็นพ้อง จำนวนเงินให้คนชรารายเดือน ช่วยได้บางส่วนแต่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ แนะ วัยทำงานเริ่มออมเงินตั้งแต่วันนี้ เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายในวันที่หมดแรงทำงาน

การเสวนาออนไลน์ สูงวัยไปด้วยกันในหัวข้อ”บำนาญแห่งชาติและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โจทย์เก่าเล่าใหม่”  จัดโดย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ (มส.ผส.)โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย นางศิริลักษณ์  มีมาก  ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ  กรมกิจการผู้สูงอายุ , ศ.ศศิพัฒน์  ยอดเพชร  นักวิชาการด้านงานผู้สูงอายุ , ศ.ดร.วรเวศม์  สุวรรณระดา  คณะเศรษฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายสว่าง  แก้วกันทา  มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุร่วมเสวนา

โดย ศ.ดร.วรเวศม์ กล่าวถึงการดูแลผู้สูงอายุให้ครอบคลุมมากขึ้น ว่า จะต้องพิจารณาในภาพรวมทั้งหมด ไม่อาจพิจารณาเฉพาะการดูแลเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแต่เพียวอย่างเดียว เพราะเรื่องผู้สูงอายุเป็นประเด็นที่คาบเกี่ยวกับหลายหน่วยงาน  ส่วนการมองเรื่องความเท่าเทียมนั้น เห็นว่าไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้เพราะเงื่อนไขของผู้สูงอายุแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน นอกจากนี้การจะเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุก็จะต้องพิจารณาวงเงินงบประมาณที่ต้องใช้ด้วย  หรือหากจะไม่เพิ่มก็ต้องพิจารณาว่าเพียงพอต่อการให้ผู้สูงอายุดำรงชีพหรือไม่

“การจะทำให้เกิดความเท่าเทียมหรือถ้วนหน้านั้นจะพิจารณาจากเบี้ยยังชีพอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเบี้ยยังชีพเป็นเพียงฐานรายได้เล็กน้อยให้กับผู้สูงวัยเท่านั้น อย่างไรก็ตามแม้ไม่สามารถทำให้เกิดความเท่าเทียมได้ แต่สามารถลดความแตกต่างลง และสอดคล้องกับสถานการณ์การเงินการคลังในปัจจุบัน”ศ.ดร.วรเวศม์ ระบุ

ขณะที่นายสว่าง เสนอให้ผู้ที่ยังอยู่ในวัยทำงานเร่งออมเงินควบคู่ไปด้วยอย่างน้อยเดือนละ 10 เปอร์เซนต์ของรายได้ที่ได้รับต่อเดือน เพื่อนำมาใช้ในช่วงที่ไม่สามารถทำงานได้ โดยเชื่อว่าการจ่ายเบี้ยยังชีพแบบขั้นบันไดทำให้ผู้สูงอายุเกิดความมั่นใจในการดำรงชีวิตมากขึ้นเพราะมีเงินเป็นของตัวเอง

ด้านนางศิริลักษณ์ เปิดเผยว่า เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเริ่มมีขึ้นตั้งแต่ปี 2536  และได้มีการปรับปรุงระบบการจ่ายเงิน รวมทั้งเพิ่มเบี้ยยังชีพให้โดยตลอด ในขณะเดียวกันยอมรับว่าแม้จะเปลี่ยนเป็นระบบการจ่ายเบี้ยยังชีพแบบขั้นบันไดที่ใช้ในปัจจุบันแล้วแต่ก็ยังไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ  รวมทั้งเห็นว่าประเด็นสำคัญคือต้องดูแลผู้สูงอายุกลุ่มพึ่งพิงเป็นหลัก

ศ.ศศิพัฒน์  ระบุว่าในจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมดมีร้อยละ 97ที่รับรู้เรื่องสิทธิที่พึงได้รับ แต่มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่รู้รายละเอียดชัดเจน จึงจำเป็นต้องมีการกระจายความรู้สู่ชุมชน พร้อมแสดงความเห็นด้วยกับข้อเสนอที่ให้มีการเก็บออมเงินตั้งแต่ในวัยทำงาน โดยเป็นการเก็บออมภาคบังคับเพื่อในอนาคตจะได้เป็นผู้สูงวัยอย่างมั่นคง รวมทั้งอยากให้มีตัวชี้วัดความยากลำบากของผู้สูงอายุด้วยเพราะบางรายได้รับสวัสดิการจากรัฐ แต่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หากสามารถจัดกลุ่มได้อย่างชัดเจนก็เชื่อว่าจะมีกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลอย่างแท้จริง