เสวนา “โควิด-19 VS PM 2.5 กับการดูแลผู้สูงอายุ“ แนะทางฝ่าวิกฤตด้วยการ ดูแลสุขภาพ–จิตใจตัวเอง โดยลูก–หลานต้องร่วมหนุนอีกแรง ห่วง ผู้สูงวัยในเมืองได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากกว่าในชนบท
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2564 เพจสูงวัย โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส) ร่วมกับ สสส. และ ไทยพีบีเอส จัดเสวนาออนไลน์ สูงวัยไปด้วยกันในหัวข้อ“โควิด-19 VS PM 2.5 กับการดูแลผู้สูงอายุ” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วยรศ.ดร.วิราภรณ์ โพธิศิริ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ผศ.พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน สาขาอายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และคุณพรพรรณ ชัยนาม นักจัดรายการวิทยุเพื่อเด็กและช่างภาพอิสระ ในฐานะตัวแทนผู้สูงอายุแอคทีฟ
รศ.ดร.วิราภรณ์ เปิดเผยว่า จากตัวเลขสถิติขององค์การสหประชาชาติ พบว่าปัจจุบันมีผู้สูงอายุกว่า 13.4 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าในอีก 30 ปีข้างหน้าจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 36 ซึ่งในจำนวนผู้สูงอายุของไทยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักงานสถิติยังพบว่า 15 ปีที่ผ่านมา ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่กับลูกหลานมีแนวโน้มลดลง สาเหตุอาจจะมาจากการมีลูกลดลงและการย้ายถิ่นฐาน ซึ่งทำให้มีแนวโน้มว่าผู้สูงอายุจะอยู่อาศัยตามลำพังมากขึ้น โดยเห็นว่าการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันของผู้สูงอายุทำให้การได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แตกต่างกัน เพราะผลสำรวจพบว่าผู้สูงอายุในเมืองได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากกว่าผู้สูงอายุในชนบท พร้อมเสนอว่าหากรัฐบาลมีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขอให้พิจารณาถึงผู้สูงอายุที่ยังทำงานอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังเห็นว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ปัญหาด้านจิตใจของผู้สูงอายุที่มีความวิตกกังวลเมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19
ด้าน ผศ.พญ.สิรินทร มองว่า การแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุควรแบ่งตามภาวะการพึ่งพาตัวเอง โดยผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19สูง คือผู้สูงอายุกลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะถ้าหากผู้สูงอายุรับประทานอาหารไม่ดี พักผ่อนไม่เพียงพอ ก็จะมีความต้านทานโรคน้อย มีความเสี่ยงมากกว่าผู้สูงอายุที่ดูแลตัวเอง ดังนั้นสมาชิกในครอบครัวจึงเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยดูแลให้ผู้สูงอายุมีความแข็งแรง ทั้งร่างกาย และด้านจิตใจ โดยจะต้องทำให้ผู้สูงอายุได้รับประทานของที่ดีเหมาะสมกับวัย พักผ่อนให้เพียงพอ และทำจิตใจให้ผ่อนคลาย
ขณะที่คุณพรพรรณ เห็นว่าผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงจากโควิด-19มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับวิถีชีวิต สภาพร่างกายและสภาพครอบครัว พร้อมย้ำว่าการดูแลตัวเองเป็นสิ่งจำเป็นมากที่สุดในการลดความเสี่ยงจากโควิด-19
สามารถรับชมตลอดช่วงการเสวนาย้อนหลังได้ที่