สำรวจ “สิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยในไทย” หนทางสู่คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ
ปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ผู้สูงวัยมีพฤฒิพลัง (Active Ageing) ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อที่จะดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพเหมาะสมกับวัย นั่นก็คือ “สิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัย” ที่สามารถส่งเสริมและกระตุ้นให้ผู้สูงวัยมีกิจกรรมทางกายภาพและสังคมได้
องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดตัวชี้วัดในการเป็นชุมชนที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยไว้ว่าจะต้องมีองค์ประกอบ 8 มิติ คืออาคารสถานที่และบริเวณภายนอก ระบบขนส่งและยานพาหนะ ที่อยู่อาศัย การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม การให้ความเคารพและการยอมรับ การมีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองและการจ้างงาน การสื่อสารและข้อมูลสาระสนเทศ การบริการชุมชนและการบริการสุขภาพ
ส่วนประเทศไทยเริ่มมีการพัฒนาเมืองที่เอื้ออาทร หรือเป็นมิตรต่อผู้สูงวัยแล้ว 48 แห่งทั่วประเทศ แต่ขณะเดียวกันยังยังไม่มีเครื่องมือวัดชุมชนที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยตามบริบทไทยอย่างเป็นรูปธรรม
งานวิจัยเรื่องการพัฒนาชุมชนที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยเพื่อส่งเสริมพฤฒิพลังของผู้สูงวัยอย่างเหมาะสมและยั่งยืน : ระยะที่1 การพัฒนาตัวชี้วัดของชุมชนที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัย โดยผศ.ดร.ศริยามน ติรพัฒน์ และคณะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) จึงเกิดขึ้น เพื่อให้การพัฒนาสิ่งแวดล้อมหรือชุมชนที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้สูงวัยได้อย่างมากที่สุด
โดยองค์ประกอบของชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยของไทย มี 5 องค์ประกอบคือ อาคารสถานที่และการสัญจร ที่อยู่อาศัย-ที่พักพิง ,กิจกรรมทางสังคม ,ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และระบบบริการชุมชนและสุขภาพ ผลการวิจัยพบว่า ประเทศไทยมีความเข้มแข็งในเรื่องกิจกรรมทางสังคม แต่ยังมีความอ่อนแอและต้องการปรับปรุงทางด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจและระบบบริการชุมชนและสุขภาพ
และเมื่อแยกตามองค์ประกอบ 5 องค์ประกอบ ผลสำรวจความเห็นทั้งจากผู้สงอายุ และผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่ รวมถึงผู้ดูแลผู้สูงอายุ พบว่า องค์ประกอบที่ 1 อาคารสถานที่และการสัญจร ผู้สูงวัยมีความต้องการความสะดวกสบายในการสัญจร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัยที่มีปัญหาในเรื่องการเคลื่อนไหว
องค์ประกอบที่2 ที่อยู่อาศัย–ศูนย์พักพิง ผลสำรวจพบว่าอยากให้มีการจัดตั้งศูนย์กิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุในระหว่างวันเพื่อให้ผู้สูงอายุได้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมในเรื่องที่อยู่อาศัยในระดับปัจเจกต่ำกว่าความพร้อมในระดับชุมชน เช่น ในชุมชนมีศูนย์กิจกรรมระหว่างวันอย่างทั่วถึง แต่สภาพบ้านของผู้สูงวัยส่วนใหญ่ยังต้องการการปรับปรุงให้สะดวกสบายสำหรับการใช้ชีวิตและพึ่งพาตนเองมากขึ้น
องค์ประกอบที่3 กิจกรรมทางสังคม ผลการสำรวจความคิดเห็นสะท้อนว่าชุมชนไทยมีการส่งเสริมการทำกิจกรรมทางสังคมอย่างหลากหลาย โดยยึดหลักประเพณีวัฒนธรรมและศาสนา แต่การสร้างจิตสำนึกให้ผู้นำชุมชนมีจิตใจเอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยเป็นสิ่งที่สำคัญและควรได้รับการส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง
องค์ประกอบที่4 ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ผลการสำรวจความเห็นสะท้อนว่าไทยมีกลุ่มส่งเสริมอาชีพหลากหลายรูปแบบตามความสนใจของผู้สูงอายุ โดยชัดเจนมากในชุมชนเมืองและชนบท แต่ผู้สูงอายุเองก็ควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้เรื่องเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์ เช่น การเล่นหุ้น การค้าขายออนไลน์ การธุรกรรมออนไลน์ เพราะการที่ผู้สูงอายุมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีจะสามารถทำให้ผู้สูงอายุรู้เท่าทันสังคมในปัจจุบันและนำไปสู่ความมั่นคงทางสถานภาพทางการเงินได้
องค์ประกอบที่ 5 ระบบบริการชุมชนและสุขภาพ ผลการสำรวจความเห็นพบว่า มีการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้สูงวัยเกี่ยวกับบริการด้านสุขภาพอนามัยและบริการด้านสังคมที่ชัดเจนรับรู้ได้ง่าย ซึ่งผู้สูงวัยมีความพอใจในการให้ความรู้เหล่านี้ แต่เพื่อให้ระบบบริการชุมชนและสุขภาพมีประสิทธิภาพสูงขึ้นการเพิ่มจำนวนและประสิทธิภาพของอาสาสมัครช่วยเหลือผู้สูงวัยในชุมชนเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง
งานวิจัย ยังพบด้วยว่า ผู้สูงวัยที่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่มีความเอื้ออาทรต่อผู้สูงวัย จะมีพฤฒิพลังสูงกว่าผู้สูงวัยที่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่ำเกือบ4 เท่า
และการอาศัยในสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยส่งผลเชิงบวกต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย ซึ่งจะพบว่าผู้สูงวัยที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยจะมีจะมีคุณภาพชีวิตสูงกว่าผู้ที่อยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่ำประมาณ 1.4 เท่า
ดังนั้นการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัย จึงมีความสำคัญในสถานการณ์ที่ไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปีหน้า