ผลวิจัยเผย ผู้สูงอายุในเมืองกรุง มีคุณภาพชีวิตต่ำกว่า ผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตในชนบท แนะเร่งสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัย
ด้วยสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันระหว่างเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครกับชนบททำให้วิถีชีวิตและความพึงพอใจในสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรผู้สูงวัยในกรุงเทพฯกับชนบทมีความแตกต่างกัน
ผลการศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนาชุมชนที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยเพื่อส่งเสริมพฤฒิพลังของผู้สูงวัยอย่างเหมาะสมและยั่งยืน : ระยะที่1 การพัฒนาตัวชี้วัดของชุมชนที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัย โดยผศ.ดร.ศริยามน ติรพัฒน์ และคณะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) พบว่าผู้สูงวัยในเขตกรุงเทพฯ มีความพึงพอใจในสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรโดยรวม ต่ำกว่าผู้สูงวัยในชนบทและในเมือง
รวมถึงความพึงพอใจด้านกิจกรรมทางสังคม ด้านระบบบริการสังคมและสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจด้วยเช่นกันที่ผู้สูงวัยในเขตกรุงเทพฯมีความพึงพอใจต่ำกว่าผู้สูงวัยในชนบท
ส่วนผู้สูงวัยในชนบท มีความพึงพอใจในสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัย ด้านอาคารสถานที่และการสัญจร รวมถึงความพึงพอใจด้านที่อยู่อาศัยและที่พักพิง ต่ำกว่าผู้สูงวัยในกรุงเทพฯและผู้สูงวัยในเมือง
การวิจัยครั้งนี้ยังสามารถสรุปได้ว่า การอาศัยในสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัย ส่งผลเชิงบวกต่อพฤฒิพลังและคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยอย่างชัดเจน
แต่เป็นที่น่าสนใจว่าผู้สูงวัยที่อาศัยในเขตกรุงเทพฯมีพฤฒิพลังและคุณภาพชีวิตต่ำกว่าผู้สูงวัยในชนบทและผู้สูงวัยในเมือง เนื่องจากสิ่งแวดล้อมมีผลต่อพฤฒิพลังและคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย
นั่นอาจหมายถึงว่าสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรในเขตเมืองหลวง เช่นกรุงเทพฯ อาจมีข้อเสียเปรียบ หรือไม่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงวัย เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรในเขตเมืองหรือเขตชนบท
ดังนั้นการปรับปรุงหรือการพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้เอื้ออาทรและเหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงวัยในเมืองหลวงที่มีความเจริญและแออัดสูงจึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างยิ่ง
โดยสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยที่อาศัยในกรุงเทพฯ ที่จะต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วนคือสิ่งแวดล้อมด้านกิจกรรมทางสังคม ด้านระบบบริการสังคมและสุขภาพ และด้านเศรษฐกิจ
ส่วนในเขตชนบท คือการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมเรื่องอาคารสถานที่ การสัญจร และเรื่องที่อยู่อาศัย-ที่พักพิงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ควรส่งเสริมให้ผู้สูงวัยในชนบทมีคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น เพื่อให้ผู้สูงอายุทุกคนในประเทศสามารถเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้