เปิดข้อเสนอแนะการพัฒนาชุมชนที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัย

เปิดข้อเสนอแนะการพัฒนาชุมชนที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยหนทางส่งเสริมพฤฒิพลังของผู้สูงวัย

ด้วยเพราะผู้สูงวัยที่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่มีความเอื้ออาทรต่อผู้สูงวัย จะมีพฤฒิพลัง” ที่สูงกว่าผู้สูงวัยที่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่ำเกือบ 4 เท่า ทำให้การปรับปรุงสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เป็นมิตรและส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถทำกิจกรรมต่างๆได้ด้วยตัวเอง และมีสุขภาพกาย สุภาพใจที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญที่หลายภาคส่วนพยายามจะผลักดัน

ผลการศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนาชุมชนที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยเพื่อส่งเสริมพฤฒิพลังของผู้สูงวัยอย่างเหมาะสมและยั่งยืน : ระยะที่1 การพัฒนาตัวชี้วัดของชุมชนที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัย โดยผศ.ดร.ศริยามน ติรพัฒน์ และคณะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ได้จัดทำข้อเสนอแนะ แนวทางในการพัฒนาชุมชนที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยดังนี้

1. การส่งเสริมชุมชนที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัย การส่งเสริมและพัฒนาชุมชน/หมู่บ้าน ที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการรองรับสังคมสูงวัยไทย เพราะการอาศัยในชุมชนที่มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัย สามารถส่งผลเชิงบวกต่อพฤฒิพลังและคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยอย่างชัดเจน

2. การพัฒนาชุมชนที่เอื้ออาทรต้องเป็นแบบบูรณาการ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับบุคคลทุกฝ่าย ทุกระดับและทุกภาคส่วน ดังนั้นการพัฒนาที่มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยให้มีประสิทธิภาพต้องอาศัยความร่วมมือกัน อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานเอกชนต่างๆและที่สำคัญคือประชาชนในชุมชน

3. ลำดับสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุไทย  สิ่งแวดล้อมที่จำเป็น ต่อการพัฒนาอย่างเร่งด่วนให้ชุมชน คือ สิ่งแวดล้อมด้านเศรษฐกิจและระบบบริการสุขภาพ ตามด้วยสิ่งแวดล้อมด้านอาคาสถานที่และการสัญจรที่อยู่อาศัยพักพิง และกิจกรรมทางสังคม

4. การพัฒนาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  สำหรับการพัฒนาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ การเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสอนการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยแก่ผู้สูงอายุ เช่น การเล่นหุ้น การค้าขายออนไลน์ การทำธุรกรรมออนไลน์ เป็นต้น การที่ผู้สูงอายุมีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์จะทำให้ผู้สูงอายุรู้เท่าทันสังคมในปัจจุบันนำไปสู่ความมั่นคงทางสถานภาพการเงินได้

5. การพัฒนาระบบบริการชุมชนและสุขภาพ เป็นสิ่งแวดล้อมอีกด้านหนึ่งซึ่งรองจากด้านเศรษฐกิจที่ควรรับการปรับปรุงอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ระบบบริการชุมชนและสุขภาพมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งการเพิ่มจำนวนและคุณภาพของอาสาสมัครช่วยเหลือผู้สูงวัยในชุมชนเป็นสิ่งที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง

6. การพัฒนาอาคารสถานที่และการสัญจร ผู้สูงวัยส่วนใหญ่จะมีปัญหาในเรื่องการเคลื่อนไหวและการสัญจร ดังนั้นจะต้องปรับปรุงเพื่อให้การเข้าถึงบริการในส่วนต่างๆเป็นไปอย่างสะดวก เช่น การมีป้ายรถสาธารณะ ที่ตั้งอยู่ในทำเลที่ไปมาสะดวกสามารถเข้าถึงได้ง่ายปลอดภัยสะอาด มีแสงสว่างเพียงพอ มีป้ายชัดเจน รวมทั้งควรมีที่พักนั่งคอย และมีหลังคาคลุมเป็นสิ่งที่ชุมชนควรต้องปรับปรุง

7. การพัฒนาด้านที่อยู่อาศัย/ศูนย์พักพิง ผลวิจัยสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมในเรื่องที่อยู่อาศัยในระดับปัจเจกต่ำ บ้านของผู้สูงวัยส่วนใหญ่ยังต้องการการปรับปรุงให้สะดวกสบายสำหรับการใช้ชีวิตและการพึ่งพาตนเองมากขึ้น ดังนั้นการส่งเสริมการปรับปรุงสภาพบ้านให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงวัยจึงเป็นสิ่งจำเป็น การระดมทุนการขอความร่วมมือในชุมชนจากผู้ที่มีศักยภาพทางการเงินและแรงงานเพื่อช่วยในการปรับปรุงสภาพบ้านหรือห้องพักที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงวัยจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับสังคมไทย

8. การพัฒนากิจกรรมทางสังคม การพัฒนากิจกรรมทางสังคมของประเทศไทยมีข้อดี คือ มีความหลากหลาย โดยยึดหลักประเพณีวัฒนธรรมและศาสนา อย่างไรก็ตามการสร้างจิตสำนึกให้ผู้นำชุมชนมีจิตเอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยและมีทีมงานที่เข้มแข็งในการจัดกิจกรรมเป็นสิ่งที่สำคัญและควรได้รับการส่งเสริม

9. การส่งเสริมพฤฒิพลังและคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยที่อาศัยในเขตกรุงเทการอาศัยในสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยส่งผลเชิงบวกต่อพื้นที่พลังและคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยอย่างชัดเจน แต่เป็นที่น่าสนใจว่าผู้สูงวัยที่อาศัยในเขตกรุงเทพมีพฤฒิพลังและคุณภาพชีวิตต่ำกว่าผู้สูงวัยในชนบทและผู้สูงวัยในเมืองอย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากสิ่งแวดล้อมมีผลต่อพฤฒิพลังและคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย ดังนั้นการปรับปรุงหรือพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรให้มีความเหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงวัยในเมืองหลวงที่มีความเจริญและความแออัดสูงจึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างยิ่

10. สิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยตามภูมิภาค สิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยที่อาศัยในกรุงเทพที่ควรได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วนคือ สิ่งแวดล้อมด้านกิจกรรมทางสังคม ด้านระบบบริการสังคมและสุขภาพและด้านเศรษฐกิจส่วนในเขตชนบทคือการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมเรื่องอาคารสถานที่การสัญจร และในเรื่องที่อยู่อาศัยที่พักพิง เป็นสิ่งสำคัญที่ควรส่งเสริมให้ผู้สูงวัยในชนบทมีคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น

สิ่งเหล่านี้คือแนวทางที่ผู้วิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะในการการพัฒนาชุมชนที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัย เพื่อส่งเสริมพฤฒิพลังของผู้สูงวัยอย่างเหมาะสมและยั่งยืน