เปิด 10 สถิติโรคฮิตของผู้สูงวัย พบ เบาหวานขึ้นแท่นอันดับหนึ่งที่มีคนป่วยมากที่สุด
องค์การสหประชาชาติได้ประเมินสถานการณ์ประชากรว่าในปี 2544- 2643 จะเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ โดยคาดการณ์ว่าผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 พันล้านคนในปี 2568 และจะกลายเป็น 2 พันล้านคนในปี 2593
ในส่วนของประเทศไทยโครงสร้างของประชากรมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้เกิดปรากฎการณ์การเปลี่ยนผ่านด้านภาวะสุขภาพ จากการ “เกิดโรค” เป็นการ “เสื่อมสภาพ”ของร่างกายตามวัย และโรคไม่ติดต่อหรือโรคเรื้อรังมากขึ้น
รายงานการวิจัย เรื่อง “การวิเคราะห์ภาวะสุขภาพ ภาระโรคและความต้องการบริการด้านสุขภาพในผู้สูงอายุ” โดยนพ.สกานต์ บุนนาค และคณะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนการวิจัยโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.) และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) โดยพบว่า จำนวนผู้ป่วยสูงอายุชายที่มารับบริการในสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2562 จำนวนกว่า 5.1 ล้านคน มีผู้ป่วยโรคเบาหวานมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 19.90
อันดับ 2 โรคหลอดเลือดสมองร้อยละ 5.83 ตามด้วยอันดับ 3 โรคข้อเสื่อมร้อยละ 5.80 อันดับ4 โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ร้อยละ 3.75 อันดับ5 โรคหัวใจขาดเลือดร้อยละ 2.59 อันดับ6 วัณโรค ร้อยละ 2.64 อันดับ 7 หูหนวก ร้อยละ 1.81 อันดับ8 โรคมะเร็งตับ ร้อยละ 0.50 อันดับ9 โรคสมองเสื่อม ร้อยละ 0.48 และอันดับ 10 โรคมะเร็งหลอดลมและปอด ร้อยละ 0.01
ส่วนผู้ป่วยสูงอายุหญิง จำนวนกว่า 6.4 ล้านคน ป่วยเป็นโรคเบาหวานมากที่สุดเช่นกัน โดยมีสัดส่วนร้อยละ 30.97 อันดับที่ 2 คือโรคข้อเสื่อม ร้อยละ 12.67 อันดับที่ 3 ต้อกระจก ร้อยละ 8.32 อันดับที่ 4 โรคไตอักเสบและไตพิการ ร้อยละ 6.16 อันดับที่5 โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังร้อยละ 4.12 อันดับที่6 โรคหลอดเลือดสมองร้อยละ 4.07 อันดับที่7 โรคหัวใจขาดเลือด ร้อยละ 1.68 อันดับที่8 โรคหูหนวก ร้อยละ 1.46 อันดับที่9 โรคสมองเสื่อมร้อยละ 0.61 และอันดับที่ 10 โรคมะเร็งตับ ร้อยละ 0.24
โดยในส่วนของโรคเบาหวานนั้น ได้มีการกำหนดให้มีการคัดกรองโรคเบาหวานในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปทุกราย โดยมีผลงานการคัดกรองในปีงบประมาณ 2562เท่ากับร้อยละ 89.5 ของประชากรเป้าหมาย และยังมีการจัดตั้งระบบบริการสาขาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) คลินิกคุณภาพขึ้นในโรงพยาบาลทั่วประเทศ
แต่ยังพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามเป้าหมายในปี 2562 มีเพียงร้อยละ 28.3 เท่านั้น อย่างไรก็ตามเมื่อมองภาระโรคพบว่าสาเหตุการสูญเสียปีสุขภาวะ(เป็นจำนวนปีที่เสียไปเพราะสุขภาพไม่ดี พิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัย) มากที่สุดในผู้สูงอายุทั้งเพศชายและเพศหญิงคือ โรคหลอดเลือดสมอง
โดยมาตรการที่สำคัญเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง คือการกำหนดให้มีการคัดกรองความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่ขึ้นทะเบียนทุกราย และผลการคัดกรองในปี 2562 เท่ากับร้อยละ 88.3 ของประชากรเป้าหมาย นอกจากนี้มีการจัดให้มีช่องทางด่วนสำหรับผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง ร่วมกับการจัดตั้งหอผู้ป่วยหลอดเลือดสมองในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ป่วยได้ทำ ซีทีสแกนสมอง และได้รับยาละลายลิ่มเลือดได้ในเวลาที่เหมาะสม เป็นผลให้อัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาลของผู้ป่วยจากโรคหลอดเลือดสมองตีบลดลง จากร้อยละ 17.6 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 8.0 ในปี2562 และหากจำแนกตามกลุ่มอาการสูงอายุ โรคที่พบบ่อยมากที่สุด คือปัญหาช่องปาก ข้อเข่าเสื่อม และการมองเห็น
สำหรับปัญหาช่องปากของผู้สูงอายุมักเกิดจากโรคเหงือกและการสูญเสียฟัน ซึ่งส่งผลต่อภาวะโภชนาการและสุขภาพโดยรวมของผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตามได้มีมาตรการในการคัดกรองสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุทุกราย รวมไปถึงผู้สูงอายุที่มีภาวะติดบ้านติดเตียง แต่ยังพบว่าผู้สูงอายุที่เข้าถึงบริการด้านทันตกรรมยังต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
ส่วนโรคข้อเขาเสื่อม ปัจจุบันในทุกสิทธิ์การรักษาพยาบาลสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยการเปลี่ยนข้อเขาเทียมได้
ในส่วนของปัญหาด้านการมองเห็นนั้น ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะเกิดจากต้อกระจก ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขาโรคตา กระทรวงสาธารณสุขได้มีมาตรการในการคัดกรองสายตาผู้สูงอายุทุกราย มีการจัดบริการผ่าตัดใส่เลนส์แก้วตาเทียมผ่านช่องทางด่วนสำหรับผู้ที่มีอาการต้อกระจกรุนแรง โดยสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ทุกสิทธิ์การรักษา
===========