งานวิจัย เผย รพ.เฉพาะทางบางแห่ง มีผู้ป่วยสูงวัยกว่าร้อยละ 60

สุดอึ้ง งานวิจัย เผย รพ.เฉพาะทางบางแห่ง มีผู้ป่วยสูงวัยกว่าร้อยละ 60 แนะ ออกแบบระบบบริการให้เอื้อต่อผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ

การปรับปรุงระบบบริการสุขภาพ เป็นหนึ่งมาตรการรองรับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น

รายงานการวิจัย เรื่อง “การวิเคราะห์ภาวะสุขภาพ ภาระโรคและความต้องการบริการด้านสุขภาพในผู้สูงอายุ” โดยนพ.สกานต์ บุนนาค และคณะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนการวิจัยโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.) และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ได้ศึกษาถึงความต้องการการใช้บริการสุขภาพ โดยใช้ข้อมูลจำนวนผู้สูงอายุที่มาใช้บริการในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2562 พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยนอก ในกลุ่มวัยอื่น จำนวน 41 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 79.23 ขณะที่จำนวนผู้ป่วยนอก ซึ่งเป็นผู้สูงอายุมีจำนวนกว่า  10 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 20.77

ขณะที่ผู้ป่วยในกลุ่มวัยอื่น มีจำนวน  3 .7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 72.23  ส่วนจำนวนผู้ป่วยสูงอายุ มี 1.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 27.77

และหากพิจารณาจากจำนวนครั้งจะพบว่าผู้ป่วยนอกในกลุ่มวัยอื่นมีการใช้บริการจำนวน 203 ล้านครั้ง คิดเป็นร้อยละ 68.76 ส่วนผู้ป่วยสูงอายุ ใช้บริการจำนวน 92 ล้านครั้ง คิดเป็นร้อยละ 31.24

จำนวนครั้งผู้ป่วยใน 5 ล้านครั้งคิดเป็นร้อยละ 67 จำนวนผู้ป่วยสูงอายุ 2.4 ล้านครั้งคิดเป็นร้อยละ 32.26

ตัวเลขเหล่านี้หมายความว่าสัดส่วนของผู้สูงอายุที่มาใช้บริการในโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข อยู่ที่ประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ใช้บริการทั้งหมด โดยเฉลี่ยจากทุกระดับโรงพยาบาล

แต่หากวิเคราะห์แยกระดับโรงพยาบาล หรือแยกตามรายแผนก จะพบว่ามีความแตกต่างกันมาก โดยข้อมูลจากการสำรวจการดำเนินงานด้านสูงอายุ กรมการแพทย์ พบว่า โรงพยาบาลที่เป็นสถาบันเฉพาะทาง เช่น โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ มีผู้สูงอายุมารับบริการในแผนกผู้ป่วยนอกและแผนกผู้ป่วยในสูงกว่าร้อยละ 60

ผลการวิจัย ยังระบุด้วยว่า ในปี 2553 ประมาณการสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 30 ของประชากรทุกกลุ่ม และคาดการณ์ว่าปี 2565 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.5 เท่า เนื่องจากผู้สูงอายุมีความจำเป็นในการใช้บริการสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นหากรัฐไม่มีมาตรการหรือการป้องกันปัญหาสุขภาพที่ดีอาจทำให้ประเทศสูญเสียเงินไปกับค่ารักษาพยาบาลจำนวนมากในอนาคต

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีการปรับระบบบริการดูแลสุขภาพสูงอายุอย่างเป็นองค์รวม เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ และให้สามารถเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพอย่างถ้วนหน้าและเท่าเทียม เช่น นโยบายคนไทยทุกครอบครัวมีหมอประจำตัว3คน คืออสม. หมอประจำบ้าน หมอสาธารณสุข และหมอเวชปฏิบัติครอบครัว โครงการฟันเทียมพระราชทาน การจัดให้มีช่องทางพิเศษสำหรับผู้สูงอายุที่เข้ามาใช้บริการแผนกผู้ป่วยนอก การจัดให้มีคลินิกผู้สูงอายุเพื่อให้บริการโดยเฉพาะ และให้มีบริการตรวจสุขภาพร่างกาย รวมทั้งตรวจคัดกรองภาวะสมองเสื่อมให้แก่ผู้สูงอายุในสถานพยาบาลทุกระดับ

แต่การปรับเปลี่ยนกลไกการให้บริการสาธารณะสุขและการคลังด้านสุขภาพนั้น จะต้องสอดรับกับความต้องการ จึงจะต้องมีการออกแบบระบบที่สามารถช่วยเหลือผู้สูงอายุได้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละกลุ่ม เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงได้ รวมถึงจัดสรรทรัพยากรและบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการด้านสุขภาพ

โดยเป้าหมายที่วางไว้ คือการมุ่งที่จะเพิ่มสัดส่วนให้ผู้สูงอายุช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบสุขภาพที่ครอบคลุม

…………………………………