เผย ผลสำรวจ คนแก่ไร้ญาติ เพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ที่มีกำลังทรัพย์จ้างเอกชนดูแลตัวเอง

เผย ผลสำรวจ คนแก่ไร้ญาติ เพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ที่มีกำลังทรัพย์จ้างเอกชนดูแลตัวเองในภาวะพึ่งพิงได้ แนะ เสริมจุดแข็งของสังคมไทย อยู่ร่วมกันหลายช่วงวัยในชุมชน ช่วยดูแลผู้สูงอายุ

โครงสร้างของครอบครัวไทยที่ได้เปลี่ยนแปลงไปสมาชิกในครอบครัวจำเป็นต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งอาจไม่ได้รับการดูแลที่มีคุณภาพเนื่องจากไม่มีญาติ หรือ ญาติไม่มีเวลาเพียงพอ และมีข้อจำกัดในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะต้องพึ่งพิวปัญหาเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ดังนั้น “เครือข่าย”  เช่น ชุมชน เพื่อนบ้าน อาสาสมัคร ผู้นำชุมชน และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จะมีบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุ ที่มีภาวะต้องพึ่งพิงมากขึ้น

รายงานการวิจัย เรื่อง “การวิเคราะห์ภาวะสุขภาพ ภาระโรคและความต้องการบริการด้านสุขภาพในผู้สูงอายุ” โดยนพ.สกานต์ บุนนาค และคณะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนการวิจัยโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.) และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ระบุว่า ภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุในประเทศไทย ซึ่งได้แบ่งตามการปฎิบัติกิจวัตรประจำวัน พบว่า กลุ่มช่วยเหลือตัวเองได้ดีอยู่ที่ร้อยละ 97 กลุ่มพอช่วยเหลือตัวเองได้บ้างร้อยละ2 และกลุ่มช่วยเหลือตัวเองได้น้อยหรือไม่ได้เลยร้อยละ 1

และจากการวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการบริการด้านสุขภาพ ซึ่งได้ใช้ฐานข้อมูล คือ การสำรวจสุขภาพประชากรไทยปี 2557  มีผู้สูงอายุในฐานข้อมูลจำนวน 8,640 คน และการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทยปี 2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งมีผู้สูงอายุในฐานข้อมูลจำนวน 83,880 คน มาวิเคราะห์แบ่งกลุ่มความต้องการดูแลที่แตกต่างกัน

พบว่าในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงแบบตลอดเวลา มีจำนวน 120,000 คน  ที่มีผู้ดูแล ซึ่งเป็นคนในครอบครัวและเครือญาติ และมีผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงแบบตลอดเวลาจำนวน 5,889 คน ที่ไม่สามารถหาผู้ดูแลจากครอบครัวและเครือญาติได้

โดยจำนวนของผู้สูงอายุที่ไม่สามารถหาผู้ดูแลได้นั้น มีเพียง 803 คน ที่มีกำลังจ้าง-ซื้อบริการการดูแล  ขณะที่ผู้สูงอายุจำนวน 5,086 คนไม่มีกำลังในการจ้าง หรือ ซื้อบริการการดูแลได้

ส่วนความต้องการการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงแบบบางเวลา พบว่ามีกว่า 210,000 คน สามารถหาผู้ดูแลจากครอบครัวหรือเครือญาติได้ ส่วนผู้สูงอายุที่ไม่สามารถหาผู้ดูแลครอบครัวเครือญาติมีจำนวนกว่า 13,385 คน โดยจำนวนนี้มีกำลังจ้าง-ซื้อบริการเพียง 268 คนเท่านั้น

นั่นหมายความว่าความต้องการดูแลในชุมชนของผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงส่วนใหญ่ร้อยละ 95 ยังมีเครือญาติ หรือคนรู้จักดูแล มีส่วนน้อยที่ไม่มีผู้ดูแล

ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงที่ไม่มีเครือญาติดูแล มีเพียงร้อยละ5เท่านั้น ที่มีความสามารถในการซื้อบริการจากเอกชน

ทีมผู้วิจัยยังหาปริมาณความต้องการระบบบริการในรูปแบบต่างๆที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงที่ต้องการดูแลแบบตลอดเวลา ในส่วนของผู้สูงอายุที่ไม่มีผู้ดูแลจากครอบครัวเครือญาติและไม่มีกำลังจ้าง-ซื้อบริการ พบว่าต้องใช้อาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น(คำนวณตามมาตรฐานที่กำหนด)จำนวน 1,272 คน และอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น(คำนวณโดยใช้หลักการดูแลตลอด 24 ชั่วโมงเจ็ดวันต่อสัปดาห์) จำนวน 22,887 คน

ผลการวิจัย ยังพบด้วยว่าข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยปี 2560 พบว่ารายได้หลักของผู้สูงอายุคือร้อยละ 35 มาจากบุตรซึ่งเป็นวัยแรงงาน แต่ในอนาคตสัดส่วนของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานจะลดลงอย่างต่อเนื่องจากในปัจจุบันที่มีสัดส่วนประชากรวัยแรงงานต่อวัยสูงอายุเท่ากับ6ต่อ1 โดยคาดว่าจะเหลือเพียง2 ต่อ1 ในปี 2593 ซึ่งอาจทำให้รายได้จากบุตรของผู้สูงอายุลดลงไปอีก

ดังนั้นภาครัฐต้องจัดระบบบริการเองหรือสนับสนุนทรัพยากรแก่ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมให้เข้ามามีบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงมากขึ้น  

นอกจากนี้ ยังต้องเสริมจุดแข็งของสังคมไทย คือ นโยบายเสริมความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว โดยเฉพาะการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในชุมชนแบบหลายกลุ่มวัยและจัดบริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านหรือในชุมชนที่ครอบครัวอาศัยอยู่ให้มากที่สุด