เปิดข้อเสนอปรับปรุงระบบสุขภาพ รองรับสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์

เปิดข้อเสนอปรับปรุงระบบสุขภาพ รองรับสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ แนะรัฐ สร้างกลไกหนุนผู้ดูแลในครอบครัว-ชุมชน ใช้ระบบฐานข้อมูล คัดกรองสุขภาพ-วิเคราะห์ความต้องการการดูแลของผู้สูงวัย

การที่ประเทศไทยกําลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ จําเป็นต้องเตรียมความพร้อมและพัฒนาระบบต่างๆ เพื่อรองรับสังคมสูงอายุในทุกมิติ โดยเฉพาะระบบสุขภาพที่จะมีผลกระทบกับผู้สูงอายุโดยตรง ซึ่งการปรับกลไกการให้บริการสาธารณสุขและการคลังด้านสุขภาพจําเป็นต้องสอดรับกับความต้องการ และเกิดผลลัพธ์ด้านสุขภาพกับผู้สูงอายุให้มากที่สุด

งานวิจัย เรื่อง “การวิเคราะห์ภาวะสุขภาพ ภาระโรคและความต้องการบริการด้านสุขภาพในผู้สูงอายุ” โดยนพ.สกานต์ บุนนาค และคณะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนการวิจัยโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.) และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ได้ให้ข้อเสนอแนะดังนี้

การให้บริการสุขภาพ (Health service delivery)

ในระดับชุมชน ควรเน้นการจัดบริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านหรือในชุมชนที่ครอบครัวอาศัยอยู่ให้มากที่สุด ดังนั้นจะต้องมีระบบสนับสนุนการดูแลให้กับผู้ดูแลที่เป็นคนในครอบครัว ทั้งด้านความรู้ ทักษะการจัดบริการโดยภาครัฐ หรือสนับสนุนโดยภาครัฐให้กับภาคประชาสังคม หรือเอกชนในการช่วยเหลือให้ผู้ดูแลที่เป็นคนในครอบครัวสามารถมีเวลาพักผ่อน ทําเรื่องส่วนตัวได้ตามสมควร เพื่อป้องกันการ “หมดใจ” หรือให้มีอาชีพที่สามารถดูแลผู้สูงอายุที่บ้านไปด้วยได้ เช่น การนํางานมาทําที่บ้านได้ (work from home) โดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วย หรือการจัดให้มีศูนย์ดูแลในเวลากลางวัน (day care) ที่อยู่ในชุมชนใกล้บ้าน เป็นต้น

ส่วนการสนับสนุนการให้บริการ แบบเต็มเวลา (full-time) ตลอด 24 ชั่วโมง ควรจัดให้เท่าที่จําเป็นโดยมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนและมีการสนับสนุนจากภาครัฐ เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนน้อยมากที่จะมีกําลังในการจ้างหรือซื้อบริการจากเอกชนเองในระดับสถานพยาบาล

นอกจากนี้ยังผู้ป่วยติดเตียงซึ่งเคลื่อนย้ายไม่สะดวก ควรนําบริการในรูปแบบการแพทย์ทางไกล (telemedicine) การเก็บสิ่งส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการถึงบ้านหรือใกล้บ้านมีช่องทางด่วนหากจําเป็นต้องมาโรงพยาบาล ร่วมกับการส่งยาทางไปรษณีย์หรือรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน มีการจัดบริการคลินิกผู้สูงอายุสําหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาหลายอย่างเพื่อให้ได้รับบริการแบบองค์รวม หรือหากทําไม่ได้อย่างน้อยควรมีการให้ความรู้ด้านการดูแลผู้สูงอายุให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติงานในคลินิกและแผนกต่างๆ ที่มีผู้สูงอายุไปใช้บริการจํานวนมากร่วมกับการจัดให้มีผู้ประสานงานและติดตามการให้บริการว่าผู้สูงอายุได้รับการแก้ปัญหาต่างๆ ครบถ้วนหรือไม่

มีการจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพหลังการเจ็บป่วยเฉียบพลัน หรือที่เรียกว่าการดูแลระยะกลางสําหรับผู้สูงอายุ (geriatric intermediate care) เพื่อลดปัญหาการเกิดภาวะพึ่งพิงในระยะยาว ซึ่งใช้ทรัพยากรในการดูแลมากกว่า และควรมีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของหน่วยบริการให้เป็นไปตามมาตรฐานอารยสถาปัตย์ (universal design) โดยเฉพาะอาคารที่สร้างใหม่ต้องมีการออกแบบไว้ล่วงหน้าสําหรับการพัฒนาระบบบริการในภาพรวมควรเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีภาวะติดบ้านติดเตียง และเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคเบาหวานให้ได้ตามเป้าหมาย

กําลังคนด้านสุขภาพ (Health care workforce)

ในระดับชุมชน ปัจจุบันมีระบบการจัดให้มีผู้ดูแล (caregiver) ที่สามารถดูแลแบบบางเวลา (part-time)โดยภาครัฐหลายรูปแบบ เช่น อสม., ผู้ดูแล (caregiver) ในระบบการดูแลระยะยาวของสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น แต่ยังต้องการผู้ดูแลที่จัดหามาจากภาครัฐในการดูแลผู้สูงอายุแบบตลอดเวลา 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ยังขาดผู้นําในชุมชนที่มีความสามารถในการรวมกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนมาร่วมกันทำกิจกรรมผ่านชมรมผู้สูงอายุ และโรงเรียนผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

ในระดับสถานพยาบาล ยังขาดแคลนแพทย์และพยาบาลเฉพาะทางด้านผู้สูงอายุ และยังขาดผู้ทํา หน้าที่นําผลการคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุมาใช้ในการประสานงานและติดตามการให้บริการว่าผู้สูงอายุได้รับการแก้ปัญหาต่างๆ ครบถ้วนหรือไม่

การเข้าถึงยา/เวชภัณฑ์ที่จํา เป็น และเทคโนโลยี (Access to Medical products and technologies)

ในระดับชุมชน ควรมีอุปกรณ์ในการช่วยการดํารงชีวิตให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดีและปลอดภัยในบ้านของตนเอง เช่น การสนับสนุนอุปกรณ์ติดตามสุขภาพผู้ป่วยที่บ้านหรือในชุมชนใกล้บ้าน เช่น เครื่องวัดความดันโลหิต เครื่องเจาะวัดระดับน้ำตาลในเลือดจากปลายนิ้ว เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจ อุปกรณ์เตือนภัย และส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือได้อย่างสะดวกรวดเร็วเมื่อเกิดภาวะวิกฤติ โดยสามารถเชื่อมโยงกับระบบโรงพยาบาลหรือระบบการแพทย์ฉุกเฉิน

ระบบการคลังด้านสุขภาพ (Health care financing)

ในระดับชุมชน ปัญหาสําคัญในปัจจุบันคือ ความไม่เพียงพอของงบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดหาผู้ดูแลที่ไม่ใช่เครือญาติแบบเต็มเวลาที่สามารถดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะติดเตียงได้ต่อเนื่องทุกวัน ดังนั้นรัฐจึงต้องมีมาตรการในการสร้างกองทุนที่มาดูแลเรื่องนี้อย่างเพียงพอ เช่น การเก็บภาษีเพิ่ม หรือมีมาตรการบังคับการออม เพื่อได้รับสิทธิทางการเงินในวัยชรา

ในระดับสถานพยาบาล รัฐควรจัดให้มีค่าชดเชยบริการการดูแลระยะกลางสําหรับผู้สูงอายุที่เหมาะสมเพื่อจูงใจให้โรงพยาบาลจัดบริการด้านนี้เพิ่มขึ้น

ระบบข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพและการวิจัย (Health Information systems & research)

ในส่วนของระบบฐานข้อมูล ควรมีการคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุตามกลุ่มอาการสูงอายุอย่างครอบคลุมเป็นมาตรฐานเดียวกัน และเชื่อมโยงกับข้อมูลแผนการดูแลรักษา (care plan) การได้รับการรักษาข้อมูลผู้ดูแลและข้อมูลรายได้ครัวเรือน เพื่อสามารถวิเคราะห์ความต้องการการดูแลรักษา และปัจจัยสนับสนุนแบบองค์รวมให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมที่สุดภายใต้ทรัพยากรที่มีจํากัด

การอภิบาลระบบ (Leadership and Governance)

รัฐควรมีนโยบายส่งเสริมจุดแข็งของสถาบันครอบครัว ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในชุมชนแบบหลายกลุ่มวัย(multigenerational solidarity) และเน้นการทํางานแบบบูรณาการระหว่างมิติสุขภาพ สังคม เครษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงต่างๆ และภาคีจากเอกชนและประชาชนให้มากขึ้นโดยใช้กลไกในระดับต่างๆ ในการกําหนดทิศทาง วางแผน และกํากับติดตามร่วมกัน เช่น กรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติในระดับประเทศ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอําเภอ (พชอ.) และสภาท้องถิ่น

โดยข้อเสนอเหล่านี้จะช่วยให้การให้บริการสุขภาพสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการด้านสุขภาพที่แท้จริงของผู้สูงอายุ

===========