เผยสถิติผู้สูงอายุผลัดตกหกล้ม 5.5 ล้านคนต่อปี เสียชีวิต 3 รายในหนึ่งวัน

เผยสถิติผู้สูงอายุผลัดตกหกล้ม 5.5 ล้านคนต่อปี เสียชีวิต 3รายในหนึ่งวัน

ปีหน้าจะเป็นปีที่ประเทศไทยกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ที่มีจำนวนประชากรสูงอายุสูงถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด   ผู้สูงอายุมีความเสื่อมถอยทางด้านร่างกายตามวัย ทั้งระบบหัวใจหลอดเลือด การทำงานระบบประสาทและกล้ามเนื้อ นำมาสู่การเกิดโรคเรื้อรังที่ต้องการดูแลอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในประจำวันของผู้สูงอายุ 

ในบรรดาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ทั้งความเสื่อมทางระบบประสาทและการเคลื่อนไหว การเจ็บป่วยด้วยโรคกระดูกและข้อเสื่อมกล้ามเนื้ออ่อนแรง การมองเห็นหรือหลายสาเหตุร่วมกัน ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มได้ง่าย

งานวิจัยเรื่องโครงการศึกษานโยบายและการดำเนินงานการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุในประเทศไทย โดยรศ.จิราพร เกศพิชญวัฒนา และดร.ภัทรพร คงบุญ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากมูนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ระบุว่า ปัญหาการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุเป็นปัญหาสาธารณสุขให้ความสำคัญระดับต้นต้นของประเทศไทย โดยเฉลี่ยผู้สูงอายุไทยเสียชีวิตจากการหกล้มประมาณ 3 คนต่อวัน และอัตราการเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุสูงกว่าทุกกลุ่มอายุถึง 3 เท่าและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มอายุ80 ปีขึ้นไป  ซึ่งจากการคาดการณ์ระหว่างปี 2560 – 2564 จะมีผู้สูงอายุพลัดตกหกล้มถึง5.5 ล้านคนต่อปีทีเดียว

การพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตให้ผู้สูงอายุและครอบครัวต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งทางตรงและทางอ้อมขณะเดียวกันรัฐเองก็จะต้องสูญเสียงบประมาณเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้ปัญหาพลักตกหกล้มในผู้สูงอายุ จึงเป็นปัญหาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการที่จะเร่งแก้ไขปเพื่อให้มีแนวปฏิบัติที่ดี ในการดำเนินมาตรการป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุต่อไป

========