เปิดข้อเสนอเชิงนโยบายป้องกันหกล้มในผู้สูงอายุจากอุบัติเหตุ
แม้ว่าการออกกำลังกายจะเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพแต่ทว่าการออกกำลังกายในผู้สูงอายุพึงมีข้อระวังเนื่องจากมีข้อค้นพบว่าปัญหาการหกล้มในผู้สูงอายุสามารถเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุกลุ่มที่มีสุขภาพดีที่ยังคงปฏิบัติกิจกรรมเช่นทำงานหรือออกกำลังกาย โดยพบว่าผู้สูงอายุกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงต่อการหกล้มจากอุบัติเหตุ เพิ่มขึ้น 1.55 เท่า เมื่อเทียบกับผู้สูงอายุที่ไม่ได้ออกกำลังกาย
โครงการศึกษานโยบายและการดำเนินงานการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุในประเทศไทย โดยรศ.จิราพร เกศพิชญวัฒนา และดร.ภัทรพร คงบุญคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากมูนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)
มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการดำเนินการป้องกันการหกล้มในลักษณะเชิงรุกเพื่อส่งเสริมสุขภาพกระดูกและป้องกันการล้มไว้อย่างน่าสนใจ
โดยเสนอให้มีการรณรงค์สร้างความตระหนักให้กับผู้สูงอายุหรือผู้ที่กำลังเข้าสู่วัยสูงอายุให้รับรู้ถึงความเสี่ยงต่อการหกล้มที่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่ระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายในเชิงถดถอยอาจมีข้อจำกัดด้านร่างกาย หรือการรับรู้เช่น การมองเห็นที่เป็นปัจจัยเสริมให้เกิดอุบัติเหตุหกล้มได้
การส่งเสริมสุขภาพ การให้ความรู้ด้วยหลักการความรอบรู้ทางสุขภาพกับกลุ่มผู้สูงอายุหรือก่อนสูงอายุในการปฏิบัติตนดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน อันจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกหักเมื่อหกล้ม
รวมทั้งให้ความสำคัญกับการคัดกรองประเมินความเสี่ยงต่อการหกล้มโดยใช้แบบประเมินความเสี่ยงการหกล้มที่เหมาะสม การปฏิบัติตัวออกกำลังกายเพิ่มมวลกระดูก การรักษาภาวะกระดูกพรุน การดูแลโภชนาการที่เหมาะสม และการได้รับวิตามินดี
การให้ความสำคัญกับการปรับสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยเป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ ทั้งพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ส่วนกลางในชุมชน รวมทั้งการปรับปรุงสภาพบ้านให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตสภาพร่างกายข้อจำกัดของผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุการพลัดตกหกล้ม ซึ่งผู้สูงอายุมีอัตราการเสียชีวิต จากการพลัดตกหกล้มกว่าทุกกลุ่มอายุกว่า 3 เท่า
//////////////