เมื่อผู้สูงวัยเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ชี้ อัตราการตาย สูงกว่าวัยอื่น 30 เท่า

นพ.สกานต์  บุนนาค”  ฉายภาพ เมื่อผู้สูงวัยเป็นผู้ป่วยโควิด-19   ชี้  อัตราการตาย สูงกว่าวัยอื่น 30 เท่า  ห่วงกลุ่มติดเตียง ไร้คนดูแลใกล้ชิดในสถานพยาบาล เตือน ลูกหลาน อย่านำเชื้อเข้าบ้าน ติดคนที่เรารัก  

แม้จำนวนการติดเชื้อโควิด-19 จะน้อยกว่ากลุ่มในช่วงวัยอื่น แต่ทว่าอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ของกลุ่มผู้สูงวัยกล้ยมีจำนวนมากกว่ากลุ่มอื่น โดยมีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตทั้งหมด  สิ่งนี้เป็นข้อห่วงใยของนพ.สกานต์  บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงวัยที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ที่ถูก “ลูกหลาน” ในวัยทำงาน นำเชื้อจากนอกเข้ามาภายในบ้าน

เขาไม่ได้รับเชื้อมาเอง ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุอยู่ติดบ้าน ติดเตียงอยู่แล้ว เขาไม่เคยออกไปข้างนอกเลยด้วยซ้ำ แต่หลังๆผู้ที่เสียชีวิตกลายเป็นคนติดบ้านติดเตียงเยอะ แสดงว่าเขาไม่ได้ไปหาเชื้อเอง แต่คนในบ้านนำเชื้อเข้าไป พาเชื้อมาติดเขา ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงมาก อัตราการเสียชีวิตจากคนติดเชื้อโควิดอยู่ที่  0.3 เปอร์เซ็นต์ในทุกกลุ่มวัย แต่เฉพาะผู้สูงอายุจริงๆเสียชีวิตในสัดส่วน 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็น 20-30 เท่า ถ้าเทียบกับคนวัยอื่น”

 

และถ้าผู้สูงวัยติดโควิด-19 วิธีการรักษาจะเป็นอย่างไร แตกต่างจากผู้ป่วยในกลุ่มวัยอื่นหรือไม่ ?

 

นพ.สกานต์ ตอบข้อสงสัยนี้ว่า ถ้าผู้ติดเชื้ออายุเกิน 65ปีขึ้นไป จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วย “สีเหลือง” หรือ ผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะต้องถูกส่งไปยังโรงพยาบาลหลักเท่านั้น ไม่สามารถส่งเข้ารพ.สนาม หรือ Hospital ทั่วไปได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ หากไม่มีญาติติดเชื้อด้วย

 

ถ้าติดเชื้อแล้วและเข้าสู่ระบบการรักษาไม่น่าห่วง เพียงแต่ว่าเขาช่วยเหลือตัวเองมากได้น้อยแค่ไหน ถ้าเขาไปอยู่ในสถานพยาบาลที่ดูแลได้ก็ไม่ยากมากนัก หรือพอติดเชื้อปุ๊บ ได้มาพร้อมลูกหลานติดเชื้อทั้งบ้าน ก็จะมีผู้ดูแล เพราะผู้ป่วยติดเตียง ต้องมีคนประกบ คอยพลิกตัว คอยป้อนอาหาร อันนี้ยากหน่อย ดังนั้นกลุ่มนี้ต้องเข้าเฉพาะโรงพยาบาลหลักเท่านั้น ไม่สามารถเข้าโรงพยาบาลสนาม หรือHospital ได้เลยเพราะรพ.สนาม กับ Hospital ผู้ป่วยต้องดูแลตัวเองได้และบุคลากรทางการแพทย์จะอยู่วงนอก แต่ถ้าอยู่โรงพยาบาลหลัก เจ้าหน้าที่จะต้องสวมชุดPPE คอยดูแลแทน”นพ.สกานต์ระบุ

ความยากลำบากอีกประการหนึ่งก็คือ เมื่อต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลหลัก แต่ผู้ป่วยติดเตียงมีอาการที่ไม่รุนแรงมาก ซึ่งหากมีผู้ป่วยรายอื่นที่มีอาการหนักกว่ายื่นความจำนงขอเข้ามาที่โรงพยาบาลหลักพร้อมกัน  มีโอกาสที่โรงพยาบาลหลักจะรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักกว่าก่อนการรับผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายกำลังพยายามจะพิจารณาให้มีสถานที่ที่มีการดูแลกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงซึ่งติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะ แต่ยังติดขัดเรื่องบุคลากรที่จะดูแลผู้ป่วยในกลุ่มนี้

 

อย่างไรก็ตามอีกแนวาทางหนึ่ง ที่มีพูดคุยถึงความเป็นไปได้ ว่า ในกรณีที่ผู้สูงอายุติดเตียง และมีญาติที่เพิ่งหายป่วยจากโควิด-19  ซึ่งมีโอกาสน้อยมากที่จะติดเชื้อทันทีหลังจากเพิ่งหาย  มาเป็นคนดูแลได้หรือไม่

 

นพ.สกานต์ ยังกล่าวถึงความเสี่ยงในการแพร่ระบาดโควิด-19 ในสถานดูแลผู้สูงอายุ ว่า ขณะนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(กรม สบส.) ได้ให้ผู้ประกอบกิจการสถานดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ให้บริการดูแลผู้สูงอายุขึ้นทะเบียนกับกรมสบส. ทั้งหมดแล้ว  ซึ่งจะทำให้มีการเข้าไปตรวจสอบมาตรฐานในการดูแลผู้สูงอายุในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ได้ อย่างไรก็ตามหากมีการระบาดเกิดขึ้นในสถานดูแลผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงสูงมากที่ ทุกคนที่อยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุจะติดเชื้อทั้งหมด เนื่องจากอากาศเวียนอยู่ในนั้น อีกทั้งเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้สูงอายุก็ใช้ปะปนกัน

ดังนั้นทุกฝ่ายจะต้องระมัดระวังการนำเชื้อไปติดกับผู้สูงอายุ ซึ่งมีสภาพร่างกายที่เปราะบางให้มากที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น