ดีเดย์ 7 มิ.ย. ฉีดวัคซีนทั้งระบบ ผู้สูงอายุต้องเตรียมตัวอย่างไรก่อนรับวัคซีน

ดีเดย์ 7 มิ.. ฉีดวัคซีนทั้งระบบ ผู้สูงอายุต้องเตรียมตัวอย่างไรก่อนรับวัคซีน สธ. เล็ง จัดทีมแพทย์อุปกรณ์ช่วยชีวิต ฉีดกลุ่มติดเตียงถึงที่  พร้อมประสานอปท. อำนวยความสะดวกพากลุ่มติดบ้าน เดินทางไปฉีดวัคซีนที่จุดให้บริการ

วันที่ 7 มิถุนายนนี้ คือ ดีเดย์ ที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นวันแรกที่ลุยฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งระบบ โดยเฉพาะในส่วนของผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และประชาชน 7 กลุ่มโรคประจำตัว ซึ่งได้ลงทะเบียนผ่านระบบพร้อมไปก่อนหน้านี้

นพ.สกานต์  บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ ได้กล่าวถึงภาพรวมการเข้าถึงวัคซีนของผู้สูงอายุผ่านการเสวนาออนไลน์สูงวัยไปด้วยกัน : วัคซีนโควิด-19 กับผู้สูงอายุ”  ซึ่งจัดโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)ร่วมกับเครือข่ายเอาไว้อย่างน่าสนใจ 

โดยนพ.สกานต์ มองว่า การนำเสนอข่าวสารทางโซเชียลมีเดีย มีความสำคัญอย่างมากในการตัดสินใจว่าจะรับการฉีดวัคซีนหรือไม่ของผู้สูงอายุอีกทั้งในระยะแรกจะมีแต่ข้อมูลจากประเทศในกลุ่มตะวันตก เกี่ยวกับความเสี่ยงในการเกิดลิมเลือดอุดตันหลังรับวัคซีน แต่การเกิดลิ่มเลือดอุดตันนั้น ประชากรในกลุ่มประเทศตะวันตกมีความเสี่ยงว่าจะมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันมากกว่าคนไทยอยู่แล้ว ทำให้เมื่อมีข่าวออกมา ผู้สูงอายุจึงเกิดความกังวลใจ

แต่โดยสรุปจนถึงขณะนี้ ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนมาระยะหนึ่งแล้ว ทั้งซิโนแวค และแอสตราเซเนกา ยังไม่เจอการเกิดลิ่มเลือดจริงๆในคนไทยแต่อย่างใด

ส่วนอาการที่คล้ายอัมพฤกษ์นั้น เป็นผลข้างเคียงชั่วคราวแล้วก็หายไปโดยมีการนำผู้ที่ฉีดวัคซีนและมีอาการเหล่านี้ไปเอกซเรย์สมองทำTC สแกน ก็ไม่พบลิ่มเลือด

เมื่อความกังขาเหล่านี้ได้รับไขข้อสงสัย ทำให้คนเริ่มสบายใจ และมีความต้องการที่จะฉีดวัคซีนมากขี้น 

สำหรับการฉีดวัคซีนของผู้สูงอายุนั้น ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน(EOC) กระทรวงสาธารณสุข แบ่งผู้สูงอายุออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบไปด้วยกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้ดี, กลุ่มติดบ้าน ช่วยเหลือตัวเองที่บ้านพอได้แต่ถ้าออกจากบ้านค่อนข้างลำบาก และกลุ่มติดเตียง

ในกลุ่มติดเตียง ซึ่งไม่สามารถเดินทางออกไปรับวัคซีนในจุดให้บริการได้มีแนวคิดที่จะส่งทีมพยาบาล พร้อมรถพยาบาลที่มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต ไปฉีดวัคซีนให้ที่ หากฉีดแล้วเกิดอาการค้างเคียงก็จะสามารถช่วยเหลือได้ โดยวิธีการนี้ถ้าเป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุก็จะส่งทีมนี้ไป แต่ถ้าลงไปตามหมู่บ้านก็จะต้องมีการวางแผนว่าวันไหนไปหมู่บ้านไหน

ส่วนกลุ่มติดบ้าน จะต้องเดินทางไปฉีดยังจุดให้บริการ แต่อาจจะมีการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง โดยจะประสานกับท้องถิ่น เพื่อจัดระบบให้บริการขนส่งคนกลุ่มนี้ไปจุดฉีด และมีช่องทางเร่งด่วนสำหรับกลุ่มนี้

ส่วนกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้ดี ก็เข้าสู่ระบบการฉีดวัคซีนตามระบบปกติ

นพ.สกานต์ กล่าวถึงกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวว่า โรคประจำตัวบางอย่างอาจจะต้องมีการเตรียมตัวไปพิเศษ เช่น ผู้สูงอายุที่มีภาวะเลือดออกง่ายหยุดยาก สามารถฉีดได้แต่อาจจะต้องมีการเตรียมตัวเป็นพิเศษ และควรจะบอกพยาบาลก่อนเพื่อที่เขาจะได้ใช้เทคนิคอื่นในการฉีดวัคซีน

ที่สำคัญผู้สูงวัยจะต้องสำรวจก่อนว่าตัวเองมีโรคประจำตัวอะไรหรือไม่ หรือถ้าสงสัยว่าโรคประจำตัวที่ตัวเองเป็นอยู่จะมีปัญหาหรือไม่ จะต้องปรึกษากับแพทย์ที่รักษาประจำว่ามีอะไรที่ต้องดูแลเป็นพิเศษหรือไม่ อย่างไรก็ตามในแต่ละจุดให้บริการจะมีจุดคัดกรองอยู่แล้ว

อยากให้มีความมั่นใจเรื่องความปลอดภัย ที่กลัวเรื่องการฉีดวัคซีน ไม่ยอมฉีด เหมือนบ้านกำลังไฟไหม้ เรานั่งอยู่ในห้องรับแขก และเรากลัวไม่กล้าออกนอกบ้านเพราะกลัวเดี๋ยวจะถูกรถชนตายอย่างนี้ แต่เรายอมอยู่ในบ้านที่ไฟไหม้ อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากวัดซีน เทียบกับการเสียชีวิตจากการไม่ฉีดแล้วติดเชื้อมันผิดกัน300-400เท่า

นพ.สกานต์ ยังย้ำว่า หลังฉีดวัคซีนแล้ว ก็อย่าเข้าใจผิดว่าฉีดวัคซีนแล้วจะไม่ติดเชื้อ เพราะในความเป็นจริงวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 50 – 60% แต่จะสามารถลดความรุนแรงได้เยอะมาก  ดังนั้นต่อให้ฉีดวัคซีนแล้วการ์ดก็อย่าตก เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นพาหะนำเชื้อไปติดผู้อื่นได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุในบ้าน