เอกชน ประสานเสียง จ้างงานผู้สูงอายุคุ้มค่า เด่นทั้งความสามารถ-ทัศนคติ-รับผิดชอบ

เอกชน ประสานเสียง จ้างงานผู้สูงอายุคุ้มค่า เด่นทั้งความสามารถทัศนคติรับผิดชอบ เผยรายได้เฉลี่ยพาร์ทไทม์1.4-3.1 หมื่นต่อเดือน

18 เปอร์เซ็นต์ คือสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุจากจำนวนประชากรไทยทั้งหมด และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ทำให้อัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชากรวัยแรงงานที่อาจถูกเลิกจ้าง ทำให้ผู้สูงอายุ ที่เคยพึ่งพารายได้จากลูก-หลาน ในการดำรงชีพ ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย

หนึ่งในทางออกทีจะตอบโจทย์ปมปัญหานี้ คือการจ้างงานผู้สูงอายุ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอแล้ว ยังบรรเทาภาระงบประมาณภาครัฐ ด้านสวัสดิการชราภาพในระยะยาว และเป็นการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในบางวิชาชีพอีกด้วย 

อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะที่ผ่านมาเคยมีลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกระทรวงแรงงานและบริษัทเอกชน 12 แห่ง ในการจ้างงานผู้สูงอายุ  ต่อมามีการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการทำงานจริงและผลิตภาพการทำงานของผู้สูงอายุตามในบริษัทเอกชน ที่ได้ทำ MOU ดังกล่าว เพื่อวิเคราะห์ ความคุ้มค่าในการจ้างงานผู้สูงอายุเปรียบเทียบกับแรงงานวัยอื่นในลักษณะงานเดียวกัน ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจ

 การศึกษาได้แบ่งบริษัทเอกชนที่จ้างงานผู้สูงอายุออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่มีนโยบายการจ้างงานผู้สูงอายุก่อนมี MOU และกลุ่มที่มีนโยบายจ้างงานผู้สูงอายุหลังมี MOU ซึ่งแต่ละบริษัทจะมีวัตถุประสงค์การจ้างงานผู้สูงอายุทั้งการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีผ่านการทำ CSR  การแก้ปัญหาโครงสร้างภายในองค์กรที่ขาดแคลนแรงงาน และเพื่อปฏิบัติตาม MOU 

ขณะที่รูปแบบการจ้างงานผู้สูงอายุของบริษัทเอกชนมี 2 รูปแบบ คือ การจ้างงานแบบต่อเนื่องหลังจากครบอายุเกษียณ 55 ปี และจ้างงานแบบจ้างใหม่สำหรับกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยลักษณะงานส่วนใหญ่เป็นงานบริการเกี่ยวกับการบริการลูกค้า จัดเรียงสินค้า แคชเชียร์ ธุรการ แม่บ้าน และCall Center 

สำหรับการจ้างงานแบบจ้างใหม่ จะมีลักษณะการจ้างแบบบางเวลาที่ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา แต่พิจารณาที่สุขภาพ ความสามารถในการทำงานและประสบการณ์ 

ขณะที่สัญญาการจ้างงานผู้สูงอายุนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นแบบปีต่อปี มีชั่วโมงการทำงาน 7-8 ชั่วโมงต่อวันทำงาน 5-6 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งแรงงานผู้สูงอายุยังได้รับการพัฒนาทักษะและการอบรมตามลำดับขั้น ได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการตามที่แต่ละองค์กรระบุไว้ ซึ่งไม่น้อยกว่าขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งได้รับสวัสดิการเบื้องต้น ทั้งการตรวจสุขภาพประจำปี สิทธิสมทบค่ารักษาพยาบาล เบี้ยขยันรายเดือน นอกจากนี้ในบางบริษัทยังเพิ่มกองทุนเงินทดแทน ประกันอุบัติเหตุกลุ่ม และประกันสุขภาพกลุ่มให้ด้วย

อย่างไรก็ตามผู้สูงอายุส่วนใหญ่ทำงานแบบบางเวลาซึ่งรูปแบบการทำงานจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับกลุ่มอายุ โดยอายุ 55-59 ปี ส่วนใหญ่ทำงานเต็มเวลา ,อายุ 60 ปีขึ้นไปทำงานแบบบางเวลามากกว่าทำงานแบบเต็มเวลา , และอายุ 70 ปีขึ้นไปเกือบทั้งหมดทำงานแบบบางเวลา ซึ่งลักษณะงานก็จะไม่ใช่งานที่ใช้แรงกายเยอะเกินไป ในจำนวนนี้เกือบครึ่งของผู้สูงอายุทำงานตำแหน่งพนักงานดูแลแนะนำจัดเรียงสินค้า รองลงมาคือพนักงานบริการลูกค้า ซึ่งผู้สูงอายุทำงานเฉลี่ย 5.4 ชั่วโมงต่อวัน การจ่ายค่าตอบแทน จะมีทั้งจ่ายเป็นรายชั่วโมง เฉลี่ย 50 บาทต่อชั่วโมง จ่ายเป็นรายวัน เฉลี่ย 386 – 971 บาทต่อวัน และจ่ายเป็นรายเดือนเฉลี่ย 14,200 – 31,485 บาทต่อเดือน

ผลการศึกษายังพบด้วยว่า ภายหลังจ้างผู้สูงอายุเข้ามาทำงานจริง ทุกบริษัทเอกชนรู้สึกคุ้มค่า ทั้งเรื่องความสามารถและทัศนคติในการทำงานโดยเฉพาะความรับผิดชอบ  ความมีวินัย  ความอดทน  ความน่าเชื่อถือและการสร้างบรรยากาศที่ดีในการทํางาน

ส่วนการทำงานร่วมกันระหว่างผู้สูงอายุกับเพื่อนร่วมงานในวัยอื่นนั้น ก็ไม่พบปัญหาช่องว่างระหว่างวัย รวมถึงยังพบว่า เพื่อนร่วมงานมีทัศนคติที่ดีต่อผู้สูงอายุ เนื่องจาก ผู้สูงอายุคอยให้คำปรึกษาแบ่งเบาภาระหน้าที่ ทำให้การทำงานมีความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ขณะที่การวัดประสิทธิภาพการทำงานของผู้สูงอายุนั้น พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่สามารถให้ประสิทธิการทำงานใกล้เคียงกับวัยแรงงานอื่นที่ทำงานลักษณะเดียวกัน ทั้งในภาพรวม ความสัมพันธ์ระหว่างประสิทธิภาพการทำงานและทัศนคติต่อการทำงาน รวมทั้งมุมมองด้านผลผลิตและต้นทุน 

โดยลักษณะงานที่ผู้สูงอายุให้ประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อเทียบกับวัยแรงงานอื่น คืองานที่เน้นการบริหารจัดการในระดับสูง หรือเน้นกระบวนการคิดเน้นทัศนคติการให้บริการเน้นด้านทักษะทางวิชาชีพและเน้นการสื่อสาร

///////////////