ชีวิตวิถีใหม่ยุคโควิดห่วงผู้สูงอายุอยู่แต่บ้าน ไม่ใส่ฟันปลอมทำฟันแท้เคลื่อน

ชีวิตวิถีใหม่ ห่วง ผู้สูงอายุอยู่แต่บ้าน ไม่ใส่ฟันปลอม ทำฟันแท้เคลื่อน ส่งผลสุขภาพช่องปากไม่ดี เปิดผลวิจัย อายุ 80 ปีขึ้นไปไร้ฟันแท้ทั้งปากถึงร้อยละ 31

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตของคนต้องเปลี่ยนแปลงไป ใช้ชีวิตแบบ “New Normal” รักษาระยะห่างระหว่างกัน ทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องอยู่บ้าน งดพบปะทางสังคม เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

การที่ไม่พบเจอใคร อาจทำให้ผู้สูงอายุบางคนตัดสินใจเลิกใส่ฟันปลอม ซึ่งการที่ไม่ได้ใส่ฟันปลอมนานๆอาจส่งผลให้ฟันแท้เคลื่อนที่ และทำให้ฟันปลอมที่ใส่อยู่นั้น ไม่พอดีกับช่องปากอีกต่อไป

ท้ายที่สุดจะนำไปสู่การมีสุขภาพช่องปากที่ไม่ดีได้ ซึ่งการมีสุขภาพช่องปากที่ไม่ดี ย่อมส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของผู้สูงอายุอีกด้วย

ในรายงาน “จัดทำข้อเสนอการขับเคลื่อนนโยบาย 8020 สุขภาพช่องปากเพื่อผู้สูงอายุ” โดย   ทพญ.ฉวีวรรณ ภักดีธนากุล  ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ระบุเอาไว้ว่า  ปัญหาการสูญเสียฟันและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใส่ฟัน เป็น 1 ใน 7 ของ ปัญหาสุขภาพช่องปากที่สำคัญของผู้สูงอายุ

โดยการปราศจากฟันถาวรทั้งปากนับเป็นปัญหาใหญ่ที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุมากที่สุด ซึ่งผู้สูงอายุไทยในกลุ่มอายุ 60-74 ปี มีจำนวนที่ไม่มีฟันทั้งปาก ร้อยละ8.7 และเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า หรือร้อยละ 31 ในกลุ่มอายุ 80-85 ปี ซึ่งปัญหานี้มาจากพฤติกรรมในการดูแลช่องปากของผู้สูงอายุ

ผลการศึกษายังได้สำรวจพฤติกรรมสุขภาพของผู้สูงอายุ ในส่วนของการทำความสะอาดฟันเทียม หรือ ฟันปลอม พบว่าร้อยละ 48.2 แปรงฟันเทียม,  ร้อยละ 20 ทำความสะอาดโดยล้างน้ำเปล่า และมีผู้สูงอายุร้อยละ 8.2 ใช้น้ำยาล้างฟันเทียม

ส่วนอัตราการเข้ารับบริการทันตกรรมในปีที่ผ่านมา มีผู้สูงอายุร้อยละ 38.6 เท่านั้นที่ไปพบทันตแพทย์ ซึ่งในจำนวนนี้ มีอาการปวดหรือเสียวฟัน สูงสุด คือร้อยละ 12.3  และยังพบว่าการรักษาโดยการเก็บรักษาฟันไว้ มีความยุ่งยากซับซ้อนหลายขั้นตอน ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถมารับบริการต่อเนื่องได้ จนถูกถอนฟันไปในที่สุด

ดังนั้นประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ คือการสื่อสารความรู้ให้เข้าใจและตระหนักในเรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตนเองที่ถูกต้อง รวมทั้งการสนับสนุนให้เข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากประจำปี ซึ่งจากการสำรวจพบว่า มีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 8.4 ที่เข้ารับบริการรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม เพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเสียฟัน พร้อมกับการใส่ฟันเทียมบางส่วนและทั้งปากเพื่อทดแทนฟันถาวรที่สูญเสียไป

ที่สำคัญลูกหลานควรสอดส่องดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน หมั่นเตือนให้ใส่ฟันปลอมเสมอๆ ซึ่งนอกจากจะทำให้ฟันแท้ที่เหลืออยู่ไม่เคลื่อนที่แล้ว ยังช่วยในการบดเคี้ยวอาหาร  และทำให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น  ซึ่งผู้สูงอายุก็จะได้รับสารอาหารหรือโภชนาการอย่างครบถ้วน เกิดผลดีต่อสุขภาพร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิกฤตการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 นี้ ที่ควรจะต้องทำให้ร่างกายแข็งแรงอยู่ตลอดเวลา

///////