เปิดงานวิจัยผู้สูงอายุเกือบครึ่งพบปัญหาการออม ทรัพย์สินไม่พอใช้ยังชีพหลังเกษียณ

เปิดงานวิจัย ผู้สูงอายุเกือบครึ่งพบปัญหาการออมทรัพย์สินไม่พอใช้ยังชีพหลังเกษียณ ส่วนใหญ่เน้นสะสมอลังหาริมทรัพย์ที่ใช้อยู่อาศัยมากที่สุด

การจัดการทรัพย์สินของผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่น้อยไปกว่าเรื่องสุขภาวะ การรักษาพยาบาล หรือการถูกละเมิดสิทธิและความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ

โดยกระบวนการในการจัดการทรัพย์สินผู้สูงอายุไม่ได้มีเพียงแค่การหารายได้และการออมให้เพียงพอ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนของการสะสมทรัพย์สินเท่านั้น แต่ยังมีขั้นตอนของการใช้ทรัพย์สิน ซึ่งหมายรวมถึงการพิทักษ์รักษาและบริหารจัดการทรัพย์สินที่สะสมมาได้ให้สามารถรับประโยชน์สูงสุดจากทรัพย์สินนั้นๆ และขั้นตอนการส่งต่อทรัพย์สินบางส่วนอย่างเหมาะสมตามความประสงค์ของเจ้าของซับซึ่งรวมถึงการมอบเป็นมรดกแก่ทายาทและการบริจาคเพื่อการกุศลต่างๆ

การศึกษาในโครงการวิจัยย่อยที่ 1 การจัดการทรัพย์สินทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุไทย ภายใต้แผนงานวิจัยการศึกษาการจัดการทรัพย์สินสำหรับผู้สูงอายุไทย โดยรศ.ดร.สันติ ถิรพัฒน์และคณะ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุจำนวน 1,091 ตัวอย่าง ช่วงอายุระหว่าง 55-70 ปี แยกตาม 6  พื้นที่ คือ กรุงเทพฯและปริมณฑล จังหวัดราชบุรี จังหวัดพะเยา จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดตราด และจังหวัดนครศรีธรรมราช

โดยพบว่าผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย มีความต้องการในการจัดการทรัพย์สินในสัดส่วนเพียงร้อยละ 35.67 ในขณะที่ส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.33 ไม่มีความต้องการทางด้านการจัดการทรัพย์สิน และผู้สูงอายุเห็นว่าปัญหาสำคัญที่สุดในบรรดา 3 กระบวนการหลักในการจัดการทรัพย์สิน คือ การออมที่ไม่เพียงพอ โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 47.95

รองลงมาคือการรักษาและการใช้ทรัพย์สินมีสัดส่วน ร้อยละ 24.03และการส่งมอบหรือส่งต่อทรัพย์สินร้อยละ 11.72

ส่วนที่เหลือร้อยละ 16.31 คิดว่าไม่มีปัญหาในการจัดการทรัพย์สินแต่อย่างใด

ผลการศึกษายังพบว่าผู้สูงอายุที่มีการศึกษาสูงระดับอนุปริญญาตรีขึ้นไปจะมีปัญหาในการออมน้อยกว่าผู้สูงอายุที่มีการศึกษาต่ำกว่านอกจากนั้นผู้สูงอายุที่เป็นข้าราชการจะมีปัญหาการออมต่ำกว่าอาชีพอื่น

 

คณะผู้วิจัยยังศึกษาถึงการสะสมทรัพย์สินเพื่อใช้ในการดำรงชีพหลังเกษียณอายุ พบว่าร้อยละ 40.06 มีรายได้หรือทรัพย์สินไม่เพียงพอในการดำรงชีพหลังเกษียณ ขณะที่ร้อยละ 30.48 ไม่มั่นใจว่าจะมีเพียงพอหรือไม่ส่วนที่เหลือร้อยละ 29.47 มันใจว่าเพียงพอ

ส่วนแหล่งที่มาของรายได้ในการดำรงชีพหลังเกษียณมากที่สุด คือลูกหลานหรือญาติ ร้อยละ 37.47 รองลงมาคือ รายได้จากแหล่งอื่นๆเช่นเบี้ยผู้สูงอายุ การเกษตร อสม. รับจ้าง ค้าขาย ร้อยละ 17.34 ตามด้วยบำนาญร้อยละ 13.54 และเงินออมบำนาญร้อยละ 13.42

มาดูกันว่า…ทรัพย์สินที่ผู้สูงอายุสะสมไว้มีอะไรกันบ้าง อันดับแรก คือ มีการสะสมอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้อยู่อาศัย ร้อยละ 35.09  รองลงมาคือทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องภายในบ้าน ได้แก่ เงินสด ทองคำ พระเครื่อง เครื่องประดับมีค่า ร้อยละ 29.24 และเงินฝากกับธนาคาร สถาบันการเงิน สหกรณ์ กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์หรือองค์กรรับฝากเงินอื่นๆร้อยละ 18.69

ส่วนปัญหาในการดูแลรักษาทรัพย์สิน ผู้สูงอายุทั้งหมดเห็นว่าไม่มีปัญหาถึงร้อยละ 79.74 มีเพียงร้อยละ 9.34 คิดว่ามีปัญหาและเห็นเป็นปัญหาสำคัญ ส่วนร้อยละ 10.92 เห็นว่ามีปัญหาแต่ไม่คิดว่าเป็นปัญหาสำคัญ

สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาพบว่าสาเหตุสำคัญ อันดับแรก คือ ขาดความรู้ความเข้าใจในการดูแลหรือบริหารจัดการทรัพย์สิน ร้อยละ 34.31ตามด้วยปัญหาทางสุขภาพร้อยละ 30.39 และการถูกเอาประโยชน์เอาเปรียบหรือฉ้อโกงจากบุคคลภายนอกร้อยละ 21.57

มีเพียงร้อยละ 4 เท่านั้นที่เห็นว่าปัญหาที่สำคัญคือการถูกเอาเปรียบหรือฉ้อโกงจากลูกหลาน ซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกับการไม่มีเวลาในการดูแลหรือบริหารจัดการทรัพย์สินของผู้สูงอายุ

 

///