งานวิจัยเผย ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังดูแลทรัพย์สินด้วยตัวเอง บางส่วนเจอปัญหาถูกยักยอก–เงินหาย กังวล ถอนเงินออกมาใช้ไม่ได้ในยามเจ็บป่วย
ผู้สูงวัยหลายคน ได้วางแผนเตรียมตัวที่จะใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างมีคุณภาพ ด้วยการเก็บหอมรอมริบตั้งแต่เมื่อตอนอยู่ในวัยทำงาน
งานวิจัยของ รศ.ดร.สันติ ถิรพัฒน์และคณะ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ ในโครงการวิจัยย่อยที่1 การจัดการทรัพย์สินทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุไทย ภายใต้แผนงานวิจัยการศึกษาการจัดการทรัพย์สินสำหรับผู้สูงอายุไทย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พบว่าผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่สะสมทรัพย์สินไว้ 3 ประเภทคือ 1. อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้อยู่อาศัย 2.ทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องภายในบ้าน ได้แก่ เงินสด ทองคำ พระเครื่อง เครื่องประดับมีค่า และ3.เงินฝากกับธนาคาร สถาบันการเงิน สหกรณ์ กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ หรือองค์กรรับฝากเงินอื่นๆ
ส่วนผู้สูงอายุที่สะสมทรัพย์สินในรูปของการลงทุนทางการเงินที่มีความเสี่ยงนั้นพบว่ามีจำนวนน้อยมาก
อย่างไรก็ตามผู้สูงอายุที่สะสมทรัพย์สินในรูปของเงินฝากและการลงทุนทางการเงินที่มีความเสี่ยง ตั้งใจว่าจะใช้บางส่วนของทรัพย์สินส่วนนี้ สำหรับใช้จ่ายในยามเกษียณอายุ
ในขณะที่ส่วนใหญ่ของผู้สูงอายุที่ถือครองอสังหาริมทรัพย์ ไม่ได้มีแผนที่จะใช้จ่ายยามเกษียณอายุจากทรัพย์สินส่วนนี้ ซึ่งอาจเป็นเพราะต้องการส่งมอบให้แก่ทายาทต่อไป
คณะผู้วิจัยได้ลงลึกทรัพย์สินที่ผู้สูงอายุสะสม ในแต่ละประเภท พบว่า “ทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องภายในบ้าน” ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีมูลค่าการถือครองทรัพย์สิน รวมไม่เกิน 10,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 52.40 รองลงมาร้อยละ 32.02 มีมูลค่าถือของทรัพย์สินรวม 10,001- 100,000 บาท ส่วนอีกร้อยละ 15.58 มีมูลค่าถือครองทรัพย์สินรวมมากกว่า 100,000 บาท
โดยการถือครองทรัพย์สินประเภทนี้ ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุจะดูแลหรือบริหารจัดการทรัพย์สินด้วยตัวเองสูงถึงร้อยละ 74.09 รองลงมาให้สามีหรือภรรยาดูแล ร้อยละ 14.20 ตามด้วยลูกหรือหลานร้อยละ 9.98 เป็นผู้ดูแลให้
โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่ร้อยละ 76.06 ไม่เคยประสบปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์สินประเภทนี้ แต่มีผู้สูงอายุบางส่วนเคยประสบปัญหาการสูญหาย และการถูกยักยอกผลประโยชน์
ขณะที่ทรัพย์สินประเภทเงินฝาก ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ถือครองทรัพย์สินประเภทนี้รวมไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 55.35 รองลงมาร้อยละ 28.59 มีมูลค่าถือครองทรัพย์สินรวม 10,001-100,000 บาท ส่วนอีกร้อยละ 16.06 มีมูลค่าถือของทรัพย์สินรวมมากกว่า 100,000 บาท
และส่วนใหญ่ยังถอนเงินจากบัญชีด้วยตัวเอง ถึงร้อยละ 68.28 รองลงมาเป็นสามีหรือภรรยาร้อยละ 15.46 ถัดมาเป็นลูกหรือหลานร้อยละ 13.85
นอกจากนี้พบว่าบัญชีเงินฝากดังกล่าวมีถึงร้อยละ 50.95 ที่สามารถถอนโดยใช้บัตรเงินสดหรือเอทีเอ็ม หรือโอนเงินออกจากบัญชีผ่านอินเตอร์เน็ต หรือโปรแกรมในโทรศัพท์มือถือได้ ซึ่งนอกจากตัวผู้สูงอายุแล้วยังมีลูกหรือหลาน รวมถึงสามีหรือภรรยาทราบรหัสบัตรกดเงินสดหรือรหัสอนุญาตให้ทำธุรกรรมผ่านอินเตอร์เน็ตหรือโปรแกรมในโทรศัพท์มือถือด้วย
โดยผู้สูงอายุร้อยละ 41.34 มองว่าถ้าจะนำทรัพย์สินส่วนนี้มาใช้จ่ายในช่วงหลังเกษียณจะเพียงพอต่อการยังชีพ และขณะที่ผู้สูงอายุร้อยละ 40.29 มองว่าไม่เพียงพอ และมีผู้สูงอายุร้อยละ 18.37 คิดว่าจะไม่นำทรัพย์สินส่วนนี้มาใช้จ่ายในช่วงหลังเกษียณ
ด้านปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์สิน พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่เคยประสบปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์สินประเภทนี้มาก่อน แต่เผชิญกับปัญหาที่ไม่สามารถถอนเงินได้ในเวลาที่ต้องการอและการสูญหายของเงินในบัญชี นอกจากนี้มีผู้สูงอายุบางส่วนมีความกังวลว่าจะไม่สามารถถอนเงินออกมาใช้ได้ในอนาคต โดยเฉพาะยามเจ็บป่วย
ส่วนทรัพย์สินประเภทการลงทุนในตราสารทางการเงินที่มีความเสี่ยง พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีการถือครองทรัพย์สินรวมไม่เกิน 10,000 บาทคิดเป็นร้อยละ 86.26 รองลงมาคือมีทรัพย์สินรวม 10,001 – 100,000 บาทร้อยละ 7.98 ส่วนอีกร้อยละ 5.76 มีมูลค่าถือคลองทรัพย์สินรวมมากกว่า 100,000 บาท
การดูแลทรัพย์สินในส่วนนี้พบว่าผู้สูงอายุมีการดูแลหรือบริหารจัดการทรัพย์สินด้วยตัวเองน้อยทรัพย์สินในสองประเภทแรก แต่มีการให้สามีหรือภรรยาและลูกหรือหลานเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยดูแลทรัพย์สินในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทรัพย์สินในส่วนนี้ผู้สูงอายุคาดว่าจะนำมาใช้จ่ายในช่วงหลังเกษียณ
มีผู้สูงอายุร้อยละ 41.03 คิดว่าทรัพย์สินนี้มีเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายหลังเกษียณทั้งหมด และอีกเพียงร้อยละ 23.08 คิดว่าไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายหลังเกษียณ ส่วนร้อยละ 35.90 คิดว่าจะไม่นำทรัพย์สินส่วนนี้มาใช้จ่ายในช่วงเกษียณ
มีผู้สูงอายุร้อยละ68.07 ไม่เคยประสบปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์สินประเภทนี้ สำหรับคนที่ประสบปัญหา คือ ไม่สามารถแปลงเป็นเงินได้เมื่อต้องการ มีจำนวนร้อยละ 10.84 รองลงมาคือมีประสบปัญหาเกี่ยวกับมูลค่าทรัพย์สินที่ลดลงอย่างมาก ร้อยละ 9.64 และถูกหลอกหรือถูกโกงคิดเป็นร้อยละ 2.4
ทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ที่อยู่อาศัย พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีมูลค่าถือของทรัพย์สินรวมมากกว่า 100,000 บาทร้อยละ 61.17มี ขณะที่ร้อยละ 38.83 มีมูลค่าการถือครองทรัพย์สินรวมไม่เกิน 100,000 บาท
โดยผู้สูงอายุมีแนวทางในการจัดการทรัพย์สินเพื่อการใช้จ่ายในยามเกษียณ อันดับแรกคือการให้เช่า ร้อยละ 34.33 รองลงมาคือให้ผู้อื่นช่วยหารายได้จากทรัพย์สินและแบ่งผลประโยชน์และการขาย
แต่หากนำบ้านหรือที่ดินไปหารายได้แล้วผู้สูงอายุร้อยละ 70.18 วางแผนว่าจะยังอาศัยอยู่ที่เดิมและใช้ที่ดินเพียงบางส่วนเพื่อหารายได้ และมีผู้สูงอายุร้อยละ 24.56 วางแผนที่จะไปอยู่อาศัยกับลูกหรือหลานเลย
ส่วนใหญ่ทรัพย์สินประเภทนี้ผู้สูงอายุไม่ประสบปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์สิน แต่ก็มีบางส่วนเคยประสบปัญหาเห็นว่าทรัพย์สินประเภทนี้ไม่สามารถแปลงเป็นเงินได้เท่าที่คาดหวังในเวลาที่ต้องการ ร้อยละ 8.90 และจะถูกยักยอกทรัพย์สินไปใช้ประโยชน์ได้คิดเป็นร้อยละ 5.10
////