ผลสำรวจเผย ผู้สูงอายุไว้ใจ “คู่สมรส” ในการขอความช่วยเหลือจัดการทรัพย์สินมากที่สุด ตามด้วย “ลูก–หลาน” ยังเชื่อมั่นองค์กร-บุคคลภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ
แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีข่าวคราวเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่ถูกฉ้อโกงทรัพย์สินโดยลูกหลานอยู่เสมอๆ แต่ผลการสอบถามความคิดเห็นของผู้สูงอายุ จำนวน 1,091 คน ซึ่งมีช่วงอายุระหว่าง 55 – 70 ปี ใน 6 พื้นที่ ประกอบด้วย กรุงเทพฯและปริมณฑล จังหวัดราชบุรี พะเยา อุบลราชธานี ตราด และนครศรีธรรมราช พบว่าลูกหลาน ยังเป็นกลุ่มคนที่ผู้สูงอายุให้ความไว้วางใจมากที่สุด รองลงมาจาก คู่สมรส หรือ คู่ชีวิต
โครงการวิจัยย่อยที่1 การจัดการทรัพย์สินทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุไทย ภายใต้แผนงานวิจัยการศึกษาการจัดการทรัพย์สินสำหรับผู้สูงอายุไทย โดยรศ.ดร.สันติ ถิรพัฒน์และคณะ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับกลไกช่วยเหลือการจัดการทรัพย์สินของผู้สูงอายุ ปรากฎว่า ผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาในการจัดการทรัพย์สิน จะปรึกษาความความช่วยเหลือจากคู่สมรส หรือคู่ชีวิตเป็นอันดับแรก ถึงร้อยละ 48.70 ตามด้วย ปรึกษาลูก–หลาน ร้อยละ 42.10 ขณะที่ญาติพี่น้องมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 9.20
โดยผู้สูงอายุให้ความมั่นใจในความสุจริตของคู่สมรส–คู่ชีวิต ถึงร้อยละ 87.22 ใกล้เคียงกับความมั่นใจในความสุจริตของลูกหลาน ที่มีสัดส่วนที่ร้อยละ 83.25
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาถึงความต้องการและรูปแบบในการจัดการทรัพย์สินทางเลือกของผู้สูงอายุ พบว่าผู้สูงอายุต้องการรูปแบบการให้คำปรึกษาปัญหาหากถูกคดโกงเป็นอันดับแรก ด้วยสัดส่วนถึงร้อยละ26.60 ตามด้วยรูปแบบการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินร้อยละ 19.11 และรูปแบบสินเชื่อจำนองย้อนกลับร้อยละ 16.16
แต่มีเงื่อนไขหนึ่งที่ผู้สูงอายุมากกว่าครึ่งให้ความสำคัญ คือ ไม่ว่าผู้ให้บริการให้คำปรึกษาจะเป็นบุคคล หรือองค์กรจะต้อง “อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ” ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยินดีจ่ายค่าทำเนียมของการให้บริการในแต่ละทางเลือกตามสัดส่วนของมูลค่าทรัพย์สิน
ส่วนความเห็นของผู้สูงอายุเกี่ยวกับ “ความจำเป็นในการมีกฎหมายเฉพาะเพื่อกำกับดูแลกลไกจัดการทรัพย์สิน“นั้น พบว่าผู้สูงส่วนใหญ่ร้อยละ 53.69 เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นในการมีกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแลผู้ให้บริการจัดการทรัพย์สิน
โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็น ร้อยละ 25.47 เห็นว่าไม่จำเป็น เนื่องจากมีกลไกทางสังคมอื่นอยู่แล้ว และที่เหลืออีกร้อยละ 28.22 เห็นว่าไม่จำเป็น ถึงแม้ว่าจะไม่มีกลไกทางสังคมอื่นที่ช่วยกำกับดูแลอยู่ก็ตาม
ส่วนผู้สูงอายุอีกร้อยละ 46 .31 เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแลผู้ให้บริการจัดการทรัพย์สิน
///////////////////////