เวทีเสวนา เฟคนิวส์กับผู้สูงอายุรู้เท่าทันสื่ออย่างปลอดภัย เห็นพ้อง พบปัญหาผู้สูงวัยไม่ตรวจสอบข้อมูลก่อนแชร์

เวทีเสวนา เฟคนิวส์กับผู้สูงอายุรู้เท่าทันสื่ออย่างปลอดภัยเห็นพ้อง พบปัญหาผู้สูงวัยไม่ตรวจสอบข้อมูลก่อนแชร์  แนะให้เช็คความถูกต้องจากสื่อหลักก่อน ห่วงถูกหลอกซื้ออาหารเสริมราคาแพง

เสวนาออนไลน์ สูงวัยไปด้วยกัน “เฟคนิวส์กับผู้สูงอายุ รู้เท่าทันสื่ออย่างปลอดภัย” โดยมี นายกฤตตฤณ  พรมเสน  มูลนิธิคนตัวดี , นส.ระวีวรรณ ทรัพย์อินทร์ อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาตรี การจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (BMCI) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นส.ปราณี  รัตนาไกรศรี อาสาสมัครสาธารณสุข กรุงเทพฯ ตัวแทนผู้สูงอายุรู้เท่าทันสื่อ , นายพีรพล  อนุตรโสตถิ์ ผู้ผลิตและผู้ดำเนินรายการชัวร์ก่อนแชร์ และนส.สาริสา  กนกธัญรัชต์ ผู้จัดการโครงการ YoungHappy

 

โดยนส.ระวีวรรณ  ทรัพย์อินทร์ อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาตรี การจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (BMCI) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงปัญหาของผู้สูงวัยกับการใช้สื่อออนไลน์ว่า ที่ผ่านมาผู้สูงอายุมีพฤติกรรมการใช้สื่อเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเชื่อว่าผู้สูงอายุทุกคนแชร์ข้อมูลต่าง ๆ ออกไปด้วยความปรารถนาดี แต่ปัญหาคือ ก่อนแชร์ข้อมูลไม่มีการตรวจสอบ ว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ เป็นข้อมูลที่มาพร้อมทัศนคติ ซึ่งเป็นความคิดเห็นมากกว่าข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่  ซึ่งข้อมูลที่ถูกนำมาแชร์ส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยข้อมูลที่เป็นสถิติ ทำให้ผู้สูงอายุหลงเชื่อ ตกเป็นเครื่องมือส่งต่อข้อมูล โดยหากต้องการให้ผู้สูงอายุรู้เท่าทันสื่อโซเชียล ตัวผู้สูงอายุเองก็ควรต้อง หยุด คิด ถาม ทำ ก่อนที่จะแชร์ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆทั้งนี้ยังเห็นว่าสื่อหลักโดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ยังมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้สูงอายุ การให้ข้อมูลของสื่อหลักจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อความเชื่อของผู้สูงอายุ

เช่นเดียวกับนายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้ผลิตและผู้ดำเนินรายการชัวร์ก่อนแชร์ ที่เห็นว่าการแชร์ข้อมูลต่าง ๆ เกิดจากความหวังดี และยังมองว่าทุกช่วงวัยสามารถใช้สื่อโซเชียลเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดทั้งประโยชน์และโทษได้ ซึ่งในส่วนของผู้สูงอายุ ผลกระทบที่เกิดขึ้น มีทั้งในด้านสุขภาพ ที่นอกจากจะถูกหลอกให้ซื้อผลิตภัณฑ์ในการดูแลสุขภาพแล้ว ยังเสียโอกาสในการรักษาอย่างถูกต้องด้วย

 

ทั้งนี้ยังพบว่าในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น การแชร์ข้อมูลที่แม้จะเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แต่หากเป็นข้อมูลเก่า เมื่อนำมาแชร์ผิดเวลา ก็ทำให้เป็นข้อมูลเท็จได้เช่นกัน ซึ่งเมื่อผู้สูงอายุรับข้อมูลมาแล้ว ควรตั้งคำถามกับตัวเองก่อนที่จะแชร์ข้อมูลออกไป ว่าข้อมูลที่ได้รับมานั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เป็นข้อมูลเก่าหรือไม่ และข้อมูลเกี่ยวข้องและครบถ้วนหรือไม่รวมทั้งเป็นข้อมูลที่เขียนขึ้นมาจากอคติทางความคิดหรือเปล่า ซึ่งควรตรวจสอบข้อมูลจากสื่อหลักหลายๆแห่ง สิ่งสำคัญคืออย่าเชื่อข้อมูลง่าย  ต้องตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน

 

ขณะที่นายกฤตตฤณ พรมเสน  มูลนิธิคนตัวดี เปิดเผยว่าจากการทำงานในมูลนิธิคนตัวดี พบว่าผู้สูงอายุถูกหลอกซื้อสินค้าและบริการจากสื่อโซเชียลจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ ยาสมุนไพรและยาบำรุงกำลัง ซึ่งเห็นว่าเป็นเพราะผู้สูงอายุมีข้อจำกัดในการตรวจสอบข้อมูล ทำให้ตกเป็นจำเลยของสังคมว่าเป็นกลุ่มหลักที่เผยแพร่ข่าวปลอม (Fake News) โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัด ซึ่งมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลและสื่อเป็นอย่างมาก ทำให้ตกเป็นเหยื่อจากการใช้สื่อโซเชียล และเมื่อผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อก็มักจะไม่กล้าบอกเล่าเรื่องราวให้คนในครอบครัวหรือเพื่อนในวัยเดียวกันรับรู้ ทำให้เกิดช่องว่างให้กับกลุ่มมิจฉาชีพมาหลอกลวง จึงเห็นว่าผู้สูงอายุควรมีสติยับยั้งชั่งใจ และมองผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากรับสื่ออย่างไม่มีสติด้วย โดยหากผู้สูงอายุรู้เท่าทัน จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้สูงอายุ

 

ด้านนส.สาริสา  กนกธัญรัชต์ ผู้จัดการโครงการ YoungHappy เห็นว่าการใช้สื่อโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน เป็นเหมือนดาบสองคม  โดยเชื่อว่าการแชร์ข้อมูลไม่ใช่ปัญหาหลัก แต่ประเด็นสำคัญคือความเชื่อของผู้รับข้อมูลข่าวสาร เพราะหากบางคนมีภูมิคุ้มกันที่ดีในการรับข่าวสารจะทำให้เกิดการตรวจสอบข้อมูลนั้น ๆ และยังเป็นการขยายภูมิคุ้มกันหมู่ได้อีกด้วย  ซึ่งในกลุ่ม YoungHappy นั้น มีการเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุได้แชร์ข้อมูลเพื่อให้มีการสื่อสาร และแสดงความคิดเห็นร่วมกัน  รวมทั้งช่วยกันหาข้อมูลโดยเป็นการเสริมทักษะและสร้างความรู้ให้กับผู้สูงอายุ

ส่วนนส.ปราณี  รัตนาไกรศรี อาสาสมัครสาธารณสุข กรุงเทพฯ ตัวแทนผู้สูงอายุรู้เท่าทันสื่อ เปิดเผยว่าในชุมชนผู้สูงอายุ จะพบปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดจากการใช้สื่อโซเชียล คือ ผู้สูงอายุในชุมชนส่วนใหญ่ไม่ชอบที่จะไปพบแพทย์ตามโรงพยาบาล เมื่อมีผู้มาเสนอขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพ แม้จะมีราคาแพง แต่เพื่อแลกกับการไม่ต้องไปพบแพทย์ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เลือกที่จะเสียเงินซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้อง ทำให้ถูกหลอกสูญเสียทรัพย์สินจำนวนมากโดยเสนอให้มีหน่วยงานที่ช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุ สามารถส่งข้อมูลเพื่อตรวจสอบโดยตรงว่าข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมานั้น เป็นข่าวจริงหรือ Fake News ก่อนจะแชร์ข้อมูลออกไป

//////////