เผยผลศึกษา ผู้สูงอายุถึง 96 เปอร์เซ็นต์อยู่ลำบากแนะ รัฐ ต้องพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุ ร่างกาย-จิตใจ

เสวนา สุขสูงวัยเตรียมได้ในบ้านหลังเดิมเผยผลศึกษา ผู้สูงอายุถึง 96 เปอร์เซ็นต์อยู่ลำบากแนะ รัฐ ต้องพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุ ร่างกาย-จิตใจ ให้รู้สึกว่าไม่ถูกทอดทิ้ง พร้อมเร่งกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้ชุมชนร่วมดูแล สร้างสภาพแวดล้อมให้อยู่อย่างปลอดภัย ใช้เครือข่ายอสม. เทคโนโลยีดูแลสุขภาพผู้สูงวัย ผ่าน telemedicine หวังลดออกนอกบ้านเสี่ยงรับเชื้อโควิด-19

วงเสวนาออนไลน์ สุขสูงวัยเตรียมได้ในบ้านหลังเดิม โดมี นพ.ขวัญประชา  เชียงไชยสกุลไทย นักวิจัย สำนักนโยบายพัฒนาสุขภาพระหว่างประเทศ , รศ.ไตรรัตน์  จารุทัศน์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายนริศ  กิจอุดม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังใหม่ อ.นายายอาม จ.จันทบุรี ร่วมเสวนา และมีดร.นพ.ภูษิต  ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมดำเนินรายการ

เลขาธิการมส.ผส. ระบุว่า ผู้สูงอายุเป็นประชากรกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่สุดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะนี้  รวมทั้งมีอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตสูงกว่าช่วงวัยอื่น แต่การรณรงค์ให้อยู่บ้าน ทำให้เกิดปัญหากับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องอยู่ลำพัง กลุ่มผู้สูงอายุไร้บ้าน และผู้สูงอายุที่อยู่กันเอง  อย่างไรก็ตามการมีที่อยู่อาศัย ถือเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่ควรมี แต่ปัญหาคือรายได้ที่จะต้องออมตั้งแต่ในวัยทำงาน เพื่อเตรียมพร้อมให้มีทรัพย์สินที่เพียงพอในการดูแลตัวเองช่วงบั้นปลายชีวิต

สิ่งที่ควรต้องพัฒนาคือนโยบายของรัฐ ว่าจะมีระบบในการดูแลผู้สูงอายุที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้อย่างไร ซึ่งการจัดการที่อยู่อาศัยให้ผู้สูงอายุสามารถแบ่งได้ 3 กลุ่มคือ ผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยในที่เดิม ผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยในชุมชน และจัดให้มีสถานพยาบาล จึงต้องการให้ทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นมีนโยบายดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรมโดยจะต้องมีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนท้องถิ่น รวมทั้งอัตรากำลัง บุคลากร และอาสาสมัคร ที่ขณะนี้ยังมีอยู่อย่างจำกัด” เลขาธิการมส.ผส.กล่าว

ด้านนพ.ขวัญประชา เห็นว่าการไม่มีบริการจากภาครัฐ มาช่วยเหลือผู้สูงอายุในด้านปัจจัย 4 ทำให้ผู้สูงอายุบางส่วนยังต้องออกนอกบ้าน ต้องเสี่ยงกับการสัมผัสเชื้อ บางรายที่สมาชิกในบ้านยังต้องออกจากบ้านไปทำงาน ก็เสี่ยงนำเชื้อกลับมาสัมผัสผู้สูงอายุ ซึ่งหากจะกล่าวถึงสุขสูงวัยในบ้านเดิม โดยหลักการต้องให้ผู้สูงอายุเป็นศูนย์กลาง วิเคราะห์ปัญหาและความต้องการ ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละครอบครัวต้องแก้ปัญหาด้วยตนเอง ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการดูแลผู้สูงอายุ บางบ้านต้องให้คนในครอบครัวลาออกจากงานมาดูแลผู้สูงอายุ ในขณะที่บางบ้านไม่สามารถทำได้ ก็ต้องให้ผู้สูงอายุช่วยเหลือตนเองในระหว่างที่คนอื่นๆในบ้านออกไปทำงาน จึงทำให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุต่างๆ

นพ.ขวัญประชา กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรมีบริการดูแลผู้สูงอายุทั้งด้านกายภาพ ปัจจัย 4  ด้านจิตใจ ด้านสังคมและการจัดการความเสี่ยงของผู้สูงอายุ  โดยงบประมาณจากภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญ ชุมชนควรเป็นส่วนเสริมในการดูแลผู้สูงอายุ ภาครัฐควรต้องมีระบบบริการบางอย่าง ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตอยู่ในบ้านเดิมอย่างมีความสุข โดยไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง   ทั้งนี้ยอมรับว่าประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีบ้านพักสำหรับผู้สูงอายุกลุ่มที่มีฐานะปานกลาง ซึ่งต้องมีงบประมาณจากภาครัฐมาสนับสนุน แต่รัฐส่วนกลางไม่ควรดำเนินการเอง ควรให้ท้องถิ่นเป็นผู้แก้ปัญหา ดูแลผู้สูงอายุเป็นรายบุคคล

 

ขณะที่ รศ.ไตรรัตน์ กล่าวว่า โครงสร้างผู้สูงอายุของไทยค่อนข้างเปราะบาง โดยพบข้อมูลผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 96 อาศัยอยู่บ้านเดิมด้วยความยากลำบาก ได้รับเพียงสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งปัญหาคือผู้สูงอายุไม่ได้รับการดูแลในด้านสภาพแวดล้อมในที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัย จึงเห็นว่าการปรับปรุงให้สภาพแวดล้อมเดิมที่ผู้สูงอายุอยู่อาศัยมีความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ เพราะโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อผู้สูงอายุ คือ สภาพแวดล้อม สังคม และการดูแล

รศ.ไตรรัตน์ ระบุด้วยว่า ขณะเดียวกันควรมีการดูแลผู้สูงอายุทั้งด้านการบริการ ด้านสุขภาพ และให้มีกิจกรรมทำ โดยการดูแลผู้สูงอายุนั้นในชนบทหรือชานเมืองมี อสม.เป็นผู้ดูแล ส่วนชุมชนเมืองจะใช้ telemedicine (โทรเวชกรรม) เนื่องจากสภาพสังคมที่อยู่กันแบบล้อมรั้ว ทำให้การช่วยเหลือกันน้อย แต่การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสื่อสาร การดูแลสุขภาพและความปลอดภัย จะช่วยให้ผู้สูงอายุอยู่ในบ้านได้นานที่สุด ซึ่งขณะนี้รัฐบาลมีเวลา 5 ปี ที่จะเร่งกระจายอำนาจในการดูแลผู้สูงอายุไปยังระดับท้องถิ่น ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้กำหนดมาตรฐานและหลักปฏิบัติ ให้กระทรวงมหาดไทยกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณ กระจายกำลังคนและกระทรวงสาธารณสุขดูแลผู้สูงอายุกลุ่มเปราะบางในชุมชนผ่านโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)

ด้านนายนริศ กล่าวว่าในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ขณะนี้ ผู้สูงอายุทั้งในเมืองและต่างจังหวัดต่างก็ถูกกดดันไม่ต่างกัน แต่ในชนบทจะสามารถปรับตัวรับกับความกดดันนี้ได้ดีกว่า เพราะส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีกิจกรรมให้ทำและมีบริเวณบ้านให้ผ่อนคลายความเครียด ซึ่งเชื่อว่าผู้สูงอายุทุกคนรักบ้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีหน้าที่พิจารณาว่า ควรปรับปรุงให้บ้านหลังเดิมของผู้สูงอายุมีความเหมาะสมอย่างไร ให้ชุมชนร่วมดูแล เบื้องต้นต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนกองทุนสมทบสำหรับผู้สูงอายุ รวมทั้งต้องมีแนวทางจัดการที่อยู่อาศัยอย่างครอบคลุม โดยสนับสนุนงบประมาณมายังท้องถิ่นโดยตรง ให้ท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการเอง ส่วนหน่วยงานในท้องถิ่นก็ควรบูรณาการการทำงานอย่างแท้จริง

/////////////////////////////