นับถอยหลัง..ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปีหน้า รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ชี้ ตัวเลขเกิด-ตายต่ำ วัยแรงงานลด แต่อัตราผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมาก จับตาประชากรรุ่นเกิดล้านจะทยอยเป็นผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 66
ในปี 2565 นี้ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็น “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” นั่นหมายความว่าประเทศไทยใช้เวลา 17 ปี จากการเป็นสังคมสูงอายุในปี 2548
รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2563 ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ระบุว่าโครงสร้างอายุของประชากรไทยได้เปลี่ยนไปอย่างมากในรอบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาจากประชากรเยาว์วัยมาเป็นประชากรสูงวัย
ในปี 2513 ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเพียง 1.7 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 4.9 ของประชากรทั้งหมด แต่ในปี 2563 ประชากรสูงอายุได้เพิ่มเป็น 12 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18.1 ของประชากรทั้งหมด
ปัจจุบันประชากรไทยกำลังเพิ่มช้าลงอย่างต่อเนื่องและในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้าอัตราการเพิ่มประชากรไทยจะยิ่งช้าลงจนถึงขั้นติดลบ แต่ในขณะเดียวกันประชากรสูงอายุกลับจะเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่สูงมากผู้สูงอายุ 60ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.5 ต่อปี และประชากรสูงอายุวัยปลาย 80 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 7.1 ต่อปี
โดยอีก 20 ปีข้างหน้าคาดการณ์ว่าจำนวนผู้สูงอายุวัยปลาย 80 ปีขึ้นไปจะมีมากถึง 3.4 ล้านคน โดยคิดเป็นร้อยละ 5.2 ของประชากรทั้งหมด
“ประชากรรุ่นเกิดล้านกำลังจะเป็นผู้สูงอายุ” ในแต่ละปีจำนวนเกิดจะมากกว่าจำนวนตาย ในปี 2508 จำนวนเกิดมากกว่าจำนวนตายถึง 4 เท่า แต่ความแตกต่างระหว่างจำนวนเกิดและตายเริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
ทำให้ช่องว่างระหว่างจำนวนคนเกิดและคนตายในแต่ละปีแคบลงทุกที ในปี 2563 คนเกิดมากกว่าคนตายเพียง 85,930 คน หรือคิดเป็นอัตราเพิ่มประชากรเพียงร้อยละ 0.12 ต่อปีเท่านั้น
ระหว่างปี 2563–2583 ประชากรเยาว์วัย (0-14ปี) จะลดลง ในขณะที่ประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้น โดยปี2562 เป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุมากกว่าเด็ก ประชากรวัยแรงงานอายุ 15 -59ปี จะค่อยๆลดลงจาก 43 ล้านคนในปี 2563 เหลือเพียง 36 ล้านคน
ในปี 2583 อัตราส่วนประชากรวัยแรงงานต่อประชากรสูงอายุจะลดลงครึ่งหนึ่งจาก 3.6 คนเหลือเพียง 1.8 คน
ประชากรรุ่นเกิดล้าน ที่เกิดระหว่างปี 2506 -2526 กำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุ คนที่เกิดปี 2506 จำนวนเกินล้านคนเป็นปีแรก กำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุในปี 2566
ภาพสะท้อนของประชากรสูงอายุไทยในอีก 20 ปีข้างหน้าหรือในปี 2583 ประชากรไทยจะมีจำนวนลดลงจาก 66.5 ล้านคน เหลือ 65.4 ล้านคน ประชากรเยาว์วัย (0-14ปี) จะมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 16.9 เหลือร้อยละ 12.8 ประชากรวัยแรงงาน ลดลงจากร้อยละ 65 เหลือร้อยละ 55.8
อัตราผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18.1 ในปี 2563 เป็นร้อยละ 31.4ในปี 2583 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก 12 ล้านคน เป็น 20.5ล้านคน
นอกจากนี้พบว่าอัตราผู้สูงอายุวัยต้น (60-69 ปี) เพิ่มจากร้อยละ 10.9ในปี 2563 เป็นร้อยละ 14.5 ในปี 2583 ทำให้จำนวนผู้สูงอายุวัยต้นจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 10 ล้านคน หากผู้สูงอายุกลุ่มนี้ยังมีสุขภาพดีมีพลังและยังสามารถทำงานได้จะทำให้สามารถมีรายได้ดูแลตัวเองและทำประโยชน์ให้กับสังคมและครอบครัวได้
จำนวนผู้สูงอายุวัยกลาง (70-79 ปี) และวัยปลาย (80ปีขึ้นไป) เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า ผู้สูงอายุวัยปลายซึ่งเป็นวัยที่ต้องการการดูแลจะเพิ่มจากประมาณ 1.4 ล้านคนในปี 2563 เป็น 3.4 ล้านคนในปี 2583
///////////////////////