เปิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ผู้สูงวัยไทยต้องเผชิญในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

เปิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่ผู้สูงวัยไทยต้องเผชิญ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 “ลดชม.ทำงาน-พักงาน-เลิกจ้าง” เบี้ยผู้สูงอายุกลายเป็นแหล่งรายได้หลัก

แม้ในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกแรก เมื่อปี 2563 จำนวนการติดเชื้อและการเสียชีวิตของผู้สูงอายุในไทยมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ แต่มาตรการการ “ปิดเมือง” (ล็อคดาวน์) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชากรทุกกลุ่มวัยทั้ง ในด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และสังคม โดยเฉพาะผลกระทบต่อผู้สูงอายุไทย

รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2563 ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลการแพร่ระบาดของโควิด-19 “ระลอกแรก” ในปี 2563 พบว่า จากผลการศึกษาของ UNFPA Thailand ดำเนินการโดยวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้สำรวจผลกระทบของการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ต่อประชากรสูงอายุในประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 1,230 ราย ในเดือนกรกฎาคมปี 2563

พบว่าก่อนเกิดวิกฤติโควิด ผู้สูงอายุร้อยละ 47.2 จากจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมดในประเทศยังทำงานหารายได้เพื่อเลี้ยงชีพ แต่หลังจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 พบว่ามีผู้สูงอายุที่ยังทำงานอยู่ต้องประสบปัญหาอุปสรรคในการทำงาน ถึงร้อยละ 81  ซึ่งผู้สูงอายุที่อยู่ในเขตเมืองประสบปัญหานี้มากกว่าผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในเขตชนบท

รายได้ของผู้สูงอายุที่มาจากการทำงานมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 40 ในช่วงปกติ เหลือเพียงร้อยละ 22 ในช่วงของการแพร่ระบาด

ในขณะที่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้กลายเป็นแหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุไทย โดยมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 40 ในช่วงทั่วไป เป็นร้อยละ 56 ในช่วงของการแพร่ระบาด ซึ่งพบด้วยว่าจากเดิมที่ผู้สูงอายุมีรายได้เพียงพอ หรือมีมากกว่าเพียงพอ มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 54เหลือเพียงร้อยละ 37 เท่านั้น

สอดรับกับการรายงานผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่พบว่าผู้สูงอายุได้รับผลกระทบทางรายได้จากสถานการณ์โควิดถึงร้อยละ 50.7

ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุ ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีอยู่มากถึงร้อยละ 45 ของจำนวนผู้สูงอายุทั่วประเทศ ถือเป็นกลุ่มประชากรเปราะบางที่สำคัญที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจรุนแรงมากที่สุด

จากการศึกษาของมส.ผส. ซึ่งดำเนินการโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลที่สำรวจผลกระทบจากการใช้มาตรการปิดเมืองต่อสภาพความเป็นอยู่และการเข้าถึงบริการ เฉพาะผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยจำนวน 808 ราย ระหว่างเดือนต.ค.-พ.ย. 2563 พบว่า ร้อยละ 77.3 ของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่ประสบปัญหาและได้รับผลกระทบเรื่องการทำงาน โดยถูกลดชั่วโมงการทำงาน ร้อยละ 55.8  ถูกพักงานร้อยละ 18.4 และถูกเลิกจ้าง ร้อยละ 3.1

2ใน3ของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย มีรายได้ลดลงในช่วงปิดเมือง และผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยอีกกว่า 1ใน3 ยังคงมีรายได้ลดลงแม้จะเข้าสู่ช่วงเปิดเมืองอีกครั้งแล้วก็ตาม

ขณะเดียวกันเงินที่เคยได้รับจากลูกหลานก็ลดลงด้วยเช่นกัน โดยพบว่าผู้สูงอายุได้รับเงินจากบุตรหลานเหลือเพียงร้อยละ 35 เท่านั้นในช่วงปิดเมือง ต่างจากช่วงสถานการณ์ปกติได้รับเงินจากบุตรหลาน ร้อยละ 57.7

แม้สถานการณ์และผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยจะคลี่คลายลงบ้างในช่วงเปิดเมือง แต่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ยังคงต้องประเชิญกับผลกระทบจากวิกฤต โควิด-19 และความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจต่อไป ยังไม่นับรวมผลกระทบในการแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้ ที่มีความรุนแรงมากที่ระลอกที่ผ่านมาหลายเท่าตัว

/////////////////

ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยปี2563 สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่ลิงค์แนบนี้