ถอดบทเรียนนานาชาติ วิกฤตโควิด-19 กับผลกระทบต่อผู้สูงอายุ

ถอดบทเรียนนานาชาติ วิกฤตโควิด-19 กับผลกระทบต่อผู้สูงอายุ เผย สถิติ ในสหรัฐฯคนแก่มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าเด็กถึง 1 พันเท่า ส่วนอิตาลี ระลอกแรก ผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุ ขณะที่ญี่ปุ่นพบผู้สูงวัยเกิดภาวะซึมเศร้ามากขึ้น

ผู้สูงอายุถือเป็นประชากรกลุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากที่สุด

รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2563 ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลการแพร่ระบาดของโควิด-19 “ระลอกแรก” ในปี 2563 พบว่า สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ โควิด-19 มากที่สุด โดยผู้สูงอายุชาวอเมริกันมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าเด็กถึง 1 พันเท่า

ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในสหรัฐฯ ร้อยละ 95 มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และผู้เสียชีวิต จำนวน 8 ใน 10 คนเป็นผู้สูงอายุ 65ปีขึ้นไป

ในสถานดูแลผู้สูงอายุหรือที่อยู่อาศัยเพื่อการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว พบการติดเชื้อเพียงร้อยละ 4 ของผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯเท่านั้น แต่กลับเป็นอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 33 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดในประเทศ หรือคิดเป็น 1 ใน3 ของผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ โควิด-19

ส่วนประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราผู้สูงอายุสูงเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น คือมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 29.8 ของประชากรทั้งหมด และมีอัตราผู้สูงอายุวัยปลาย 80 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 7.5

 

โครงสร้างของประชากรสูงอายุนี้เองที่ทำให้อิตาลีได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  ด้วยเพราะผู้สูงอายุชาวอิตาลี มีความใกล้ชิดกับบุตรหลานเป็นอย่างมาก แม้ผู้สูงอายุจะไม่ได้อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันกับลูกแต่ส่วนใหญ่อยู่บริเวณใกล้กัน ทำให้มีการพบปะกันบ่อยครั้ง และมีการเดินทางระหว่างเมืองทำให้อัตราการแพร่ระบาดและเสียชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุสูงมาก

โดยการแพร่ระบาดในอิตาลี ปี 2020 มีอัตราการตายสูงประมาณ 11 ต่อประชากร 1,000 คน มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2020 มีผู้เสียชีวิตถึง 74,159 คน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุ

จำนวนผู้เสียชีวิตในอิตาลีเมื่อปี 2020 ร้อยละ 76 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด เป็นผู้สูงอายุวัยปลายที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป รองลงมาคืออายุ 65 ถึง 79ปี เสียชีวิตร้อยละ 20 จากจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด

ขณะที่ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราผู้สูงอายุสูงที่สุดในโลก แต่พบว่าจำนวนการเสียชีวิตในผู้สูงอายุต่ำกว่าประเทศตะวันตกอย่างมาก

โดยที่ญี่ปุ่นมีบ้านพักผู้สูงอายุจำนวนมากเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุ การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทำให้การบริการบ้านพักผู้สูงอายุต้องปรับตัวเพื่อรักษาระยะห่าง  เช่น มีการตั้งฉากไวนิลกั้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ งดและลดกิจกรรมที่ผู้สูงอายุมารวมตัวกัน อาทิ  การร้องเพลงคาราโอเกะ การออกกำลังกายร่วมกัน และกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ซึ่งผู้สูงอายุจำนวนมากออกจากบ้านพักเพียงสัปดาห์ละครั้ง หรือไม่ออกจากบ้านพักเลย

อย่างไรก็ตามการรักษาระยะห่างทางสังคมที่ยาวนาน ทำให้ร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุเสื่อมถอยลง โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม ความซึมเศร้าและความกังวลใจ มีจำนวนผู้สูงอายุเข้ามาขอรับคำปรึกษาจากแพทย์เพิ่มมากขึ้น

โดยแพทย์แนะนำให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารตามมื้อปกติ นอนหลับพักผ่อนและออกกำลังกายด้วยการเดินอย่างเพียงพอ ปิดโทรทัศน์เพื่อลดการรับข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 ที่มากเกินไป รวมทั้งรักษาการติดต่อกับสมาชิกในครอบครัวและเพื่อน เพื่อไม่ให้เกิดโรคซึมเศร้าอันเป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่ภาวะสมองเสื่อม

คำแนะนำนี้สามารถนำมาปรับใช้กับผู้สูงอายุในไทยในห้วงเวลาของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ได้

///////////

ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยปี2563สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่ลิงค์แนบนี้