มส.ผส. เปิดรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยฉบับล่าสุด เผย โควิด-19 ทำผู้สูงอายุรายได้น้อยได้รับผลกระทบมากที่สุด

มส.ผส. เปิดรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยฉบับล่าสุด  เผย โควิด-19 ทำผู้สูงอายุรายได้น้อยได้รับผลกระทบมากที่สุด งานหด-เงินลด มีรายได้ไม่พอใช้ถึงร้อยละ 63  ชี้ เบี้ยผู้สูงอายุกลายเป็นรายได้หลัก ขณะที่ด้านสุขภาพส่วนใหญ่เกิดความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาด ชง 5ข้อเสนอแนะ ตอบโจทย์ความต้องการผู้สูงอายุ จี้ เร่งฉีดวัคซีนให้เหมาะสมช่วงวัยและทั่วถึง พร้อมย้ำ ปีหน้าไทยเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ พบผู้สูงอายุใช้ชีวิตตามลำพังถึง 1.3 ล้านคน

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) เปิดเผย รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2563 ซึ่งได้จัดทำขึ้นตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ โดยพบว่าในปี2563 ประเทศไทยมีประชากรรวม 66.5 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 12 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งทำให้ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นสังคม “สูงอายุอย่างสมบูรณ์” ภายในปี 2565 นี้  ทั้งนี้ยังพบด้วยว่า ในปี 2563 นี้มีผู้สูงอายุอยู่คนเดียวถึง 1.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 11 ส่วนผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังกับคู่สมรสมี 2.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 21

ส่วนสวัสดิการด้านการเงินของรัฐสำหรับผู้สูงอายุนั้นพบว่ามี ผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพ 9,663,169คน วงเงินงบประมาณ 76,280 ล้านบาท , ผู้สูงอายุที่ได้รับบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 803,293 คน งบประมาณ 267,012 ล้านบาท , และมีผู้สูงอายุที่ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจากกองทุนประกันสังคมจำนวน 598,550 คน งบประมาณ 20,203 ล้านบาท

สำหรับการทำงานของผู้สูงอายุ พบว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 60- 64 ปี สัดส่วนร้อยละ 55.5ของประชากรในกลุ่มอายุนี้ยังทำงานอยู่ ส่วนผู้สูงอายุระหว่าง 65-69ปี มีสัดส่วนร้อยละ 41.4 ของประชากรกลุ่มอายุนี้ยังทำงานอยู่ และมีผู้สูงอายุ 4.7 ล้านคนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุ ยังเปิดเผยถึงสถานะสุขภาพของผู้สูงอายุ โดยพบว่าผู้สูงอายุที่เป็นโรคสมองเสื่อมมีจำนวนถึง 651,950 คน ขณะที่ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะติดเตียงมีจำนวน 43,520 คน ด้านการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุนั้น พบว่ามีชมรมผู้สูงอายุ 29,276 ชมรม โรงเรียนผู้สูงอายุ 2,049 แห่ง ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ 1,589 แห่ง

เผย ผู้สูงอายุร้อยละ81 พบปัญหาเรื่องงานหลังโควิดระบาด

รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุ ปี2563  ยังรวบรวมผลกระทบของโควิด-19 ต่อผู้สูงอายุในประเทศไทย เฉพาะการแพร่ระบาดในระลอกแรก ปี 2563  ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุไม่รุนแรงเท่ากับการแพร่ระบาดในปัจจุบัน  โดยในระลอกแรกพบว่ามีผู้สูงอายุติดเชื้อ โควิด-19 จำนวน 543 ราย คิดเป็นร้อยละ 7.9 ของจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมทั้งหมดในปี 2563 ขณะที่ผู้สูงอายุที่เสียชีวิตมีจำนวน 29 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.3 ของจำนวนผู้สูงอายุที่ติดเชื้อโควิด-19ทั้งหมด

อย่างไรก็ตามแม้ในระลอกแรกจำนวนผู้สูงอายุในไทยที่ติดเชื้อมีจำนวนไม่มากนัก แต่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ได้ จากผลการศึกษาของ UNFPA Thailand ดำเนินการโดยวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจผลกระทบของการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ต่อประชากรสูงอายุในประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 1,230 ราย

ในเดือนกรกฎาคม ปี 2563 พบว่าก่อนเกิดวิกฤติโควิด ผู้สูงอายุร้อยละ 47.2 ยังทำงานหารายได้เพื่อเลี้ยงชีพ แต่หลังจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 พบว่าผู้สูงอายุที่ทำงานร้อยละ 81 ต้องประสบปัญหาอุปสรรคในการทำงาน โดยผู้สูงอายุที่อยู่ในเขตเมืองประสบปัญหาเกี่ยวกับการทำงานมากกว่าผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในเขตชนบท

 

ทำรายได้ลดลงเกือบครึ่ง มีเพียงร้อยละ 37 เท่านั้นที่เงินพอใช้

รายได้ของผู้สูงอายุที่มาจากการทำงานมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 40 ในช่วงปกติ เหลือเพียงร้อยละ 22   ในขณะที่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้กลายเป็นแหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุไทย โดยมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 40 ในช่วงทั่วไป เป็นร้อยละ 56 ในช่วงของการแพร่ระบาด ซึ่งผู้สูงอายุมีรายได้เพียงพอหรือมีมากกว่าเพียงพอ มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 54 เหลือเพียงร้อยละ 37เท่านั้น สอดรับกับการรายงานผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่พบว่าผู้สูงอายุได้รับผลกระทบทางรายได้จากสถานการณ์โควิดถึงร้อยละ 50.7

ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย หรือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและเป็นผู้ที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีอยู่มากถึงร้อยละ 45 ของจำนวนผู้สูงอายุทั่วประเทศ ถือเป็นกลุ่มประชากรเปราะบางที่สำคัญที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจรุนแรงมากที่สุด จากการศึกษาของมส.ผส. ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สำรวจผลกระทบจากการใช้มาตรการปิดเมืองต่อสภาพความเป็นอยู่และการเข้าถึงบริการเฉพาะผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยจำนวน 808 ราย ระหว่างเดือนต.ค.-พ.ย. 2563 พบว่า ร้อยละ 77.3 ของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่ยังทำงานต้องประสบปัญหาและได้รับผลกระทบเรื่องการทำงานโดยร้อยละ 55.8 ถูกลดชั่วโมงการทำงาน ร้อยละ 18.4 ถูกพักงาน และร้อยละ 3.1 ถูกเลิกจ้าง

2 ใน3 ของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย มีรายได้ลดลงในช่วงปิดเมืองและผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยอีกกว่า 1 ใน 3 ยังคงมีรายได้ลดลงแม้จะเข้าสู่ช่วงเปิดเมืองอีกครั้งแล้วก็ตาม ส่วนผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยได้รับเงินจากบุตรหลานลดลงจากร้อยละ 57.7 ในช่วงสถานการณ์ทั่วไป เหลือเพียงร้อยละ 35 ในช่วงปิดเมืองและเพิ่มเป็นร้อยละ 47.1 เมื่อเข้าสู่ช่วงเปิดเมือง

ผู้สูงอายุมากกว่าครึ่งวิตกกังวล 3 เรื่องหลัก สภาพการเงิน-ติดเชื้อ-สุขภาพแย่ลง

นอกจากนี้ยังมีผลกระทบด้านสุขภาพที่พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 57.2 มีความวิตกกังวล โดยส่วนใหญ่ที่กังวลมากที่สุด คือผลกระทบด้านการเงินทั้งของตนเองและครอบครัว รองลงมาคือกลัวว่าตนเองหรือสมาชิกในครอบครัวจะติดเชื้อ ตามด้วยความกังวลว่า สุขภาพที่อาจแย่ลงเนื่องจากการผิดนัดหมายกับแพทย์

 

 ชี้ โควิด-19 ช่วยรื้อปัญหาใต้พรม จี้ ปรับปรุงนโยบายสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ-สังคมให้ผู้สูงอายุ

รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยฉบับนี้ ยังมีข้อเสนอแนะและนโยบายด้วยว่าผู้สูงอายุต่างได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากวิกฤต โควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการใช้มาตรการปิดเมือง แต่หากพิจารณาแล้วจะพบว่าการเข้าถึงบริการและการดูแลสำหรับผู้สูงอายุในหลายแง่มุมต่างล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาเดิมที่มีอยู่แล้วก่อนหน้านี้  ซึ่งมาตรการปิดเมืองที่มาพร้อมกับความไม่สะดวกต่างๆช่วยสะท้อนและเป็นตัวเร่งทำให้เห็นปัญหาเหล่านี้ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงเสนอให้ภาครัฐพิจารณาปรับปรุงนโยบายและมาตรการต่างๆเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้สูงอายุให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อแก้ไขปัญหาการไม่เข้าถึงและความไม่เพียงพอของบริการทางสังคมด้านต่างๆของผู้สูงอายุไทย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่ปัจจุบันมีจำนวนมากถึง 4.9 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของผู้สูงอายุทั้งหมด

 

ชงข้อเสนอ 5 ด้าน ตอบโจทย์ความต้องการผู้สูงอายุอย่างแท้จริง จี้ เร่งจัดหาวัคซีนให้เพียงพอ เพิ่มเบี้ยยังชีพฯ

พร้อมกันนี้ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 5 ด้านที่จะตอบโจทย์ตามความต้องการของผู้สูงอายุในวันนี้และในอนาคตอย่างแท้จริง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเผชิญหน้ากับวิกฤตหรือภัยพิบัติอื่นๆต่อไปในอนาคต โดยด้านเศรษฐกิจ เห็นว่าต้องสร้างหลักประกันทางเศรษฐกิจที่มีมาตรการระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุให้มีความมั่นคงและยังยืน ด้วยการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ส่งเสริมและขยายโอกาสในการทำงานให้กับผู้สูงอายุเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถสร้างรายได้และพึ่งพาตนเองให้นานที่สุด

ด้านสุขภาพ ต้องเร่งจัดหาวัคซีนป้องกัน โควิด-19 ให้มีปริมาณที่เพียงพอและสอดคล้องกับสภาพร่างกายและเงื่อนไขทางสุขภาพของประชากรกลุ่มวัยต่างๆอย่างเหมะสม ครอบคลุม ทั่วถึง และเป็นธรรม รวมทั้งพัฒนาระบบการส่งยาทางไปรษณีย์ให้มีความต่อเนื่องสำหรับผู้สูงอายุในทุกสิทธิสุขภาพรวมถึงต่อยอดไปสู่ระบบการรักษาทางไกลด้วย

ด้านข้อมูลข่าวสาร ควรพิจารณาเรื่องระบบ Big data เพื่อเชื่อมโยงและบูรณาการฐานข้อมูลด้านสวัสดิการทุกประเภทและทุกโครงการของภาครัฐสำหรับผู้สูงอายุเข้าด้วยกัน และเปิดให้เข้าถึงข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ควรพิจารณาปรับปรุงวิธีการเข้าถึงสวัสดิการและความช่วยเหลือต่างๆของภาครัฐเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและทั่วถึง รวมไปถึงการส่งเสริมให้เข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตอย่างทั่วถึง โดยกำหนดให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนและผู้สูงอายุควรได้รับ

ด้านที่อยู่อาศัย ควรส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจในการปรับบ้านให้เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับคนทุกวัย รวมถึงผลักดันให้มีการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมในระดับชุมชนให้เหมาะสม และปลอดภัยเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่ในที่เดิมได้อย่างเป็นรูปธรรม

และสุดท้ายด้านการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุควรเพิ่มกำลังคนในระบบอาสาสมัครและจิตอาสาในการดูแลผู้สูงอายุจัดทำระบบข้อมูลและนำวิธีการให้แรงจูงใจมาใช้ในทางปฏิบัติแก่อาสาสมัครทั้งรูปแบบการดูแลที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ

////////////

ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยปี2563 ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่ลิงค์แนบนี้

รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ปี 2563