เปิดคู่มือ Home Isolation ตอนที่ 2 กักตัวที่บ้านต้องทำอะไรบ้าง

เปิดคู่มือ Home Isolation ตอนที่ 2 : กักตัวที่บ้านต้องทำอะไรบ้าง

“Home Isolation” หรือ การแยกกักตัวที่บ้านผ่านระบบติดตามดูแลอาการ เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยโควิดอาการไม่รุนแรง (ผู้ป่วยสีเขียว) หรือ ผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลมาแล้วอย่างน้อย 7-10 วันจนสามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านต่อได้

โดยขั้นตอนการเข้าสู่ระบบการแยกกักตัวที่บ้าน จะมี 4 ขั้นตอน

คือ 1. ใช้ชุดตรวจโควิด(Antigen test kit)ที่ผ่านการรับรองจากอย.ตรวจด้วยตัวเองหรือตรวจจากหน่วยตรวจโควิดเชิงรุก

2.หากพบผลตรวจเป็นบวก (ติดเชื้อ) และผู้ป่วยต้องการแยกกักตัวที่บ้านให้ติดต่อเบอร์1330

3.เจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับหลังจากจับคู่ผู้ป่วยกับคลินิกศูนย์บริการสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลที่จะรับหน้าที่ดูแลผู้ป่วยระหว่างแยกกับตัวที่บ้าน 

และ4.แพทย์ทำการพิจารณาผู้ป่วยอีกครั้งหากไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยจะสามารถเริ่มเข้าสู่ระบบการแยกกับตัวที่บ้านได้ ซี่งโรงพยาบาลจะจัดเตรียมสิ่งต่างๆให้กับผู้ป่วย ดังต่อไปนี้ อาหารวันละ 3 มื้อ ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว การวิดีโอคอลติดตามอาการจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างน้อยวันละ2ครั้ง และโรงพยาบาลพร้อมรับกลับมารักษาหากมีอาการแย่ลง

ขณะที่ผู้ป่วยเองจะต้องเตรียมของเหล่านี้ไว้ที่บ้าน เช่น อุปกรณ์การป้องกันการแพร่เชื้อ อย่างเจลล้างมือแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ หน้ากากอนามัย ถุงสำหรับขยะติดเชื้อ ทิชชูแห้ง ทิชชู่เปียก น้ำยาฟอกขาวสำหรับทำความสะอาด และยารักษาโรคที่กินเป็นประจำ

 

ควรทำไม่ควรทำอะไรบ้าง ระหว่างกักตัว 

ส่วนข้อปฏิบัติของผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อแยกกักตัวที่บ้านนั้น จะต้องห้ามคนมาเยี่ยม ให้อยู่ในห้องส่วนตัวตลอดเวลา เว้นระยะห่างจากคนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ

ไม่รับประทานอาหารร่วมกัน เพราะช่วงเวลากินข้าวต้องถอดหน้ากากอนามัย ซึ่งจะมีความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อได้ รวมไปถึงการแยกของใช้ส่วนตัว เช่น โทรศัพท์มือถือ จาน ชามช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าขนหนู เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และต้องใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ ให้ผู้ป่วยใช้เป็นคนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำ และหลังใช้ให้ทำความสะอาดโถสุขภัณฑ์ทันทีด้วยน้ำยาฟอกผ้าขาว

หมั่นเปิดประตูเปิดหน้าต่าง อย่างน้อยสองด้านของห้อง เพื่อให้มีช่องทางลมเข้าออก ลดการสะสมเชื้อ และควรพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดเสมอๆเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ

ตลอดเวลาผู้ป่วยต้องล้างมือเป็นประจำอย่างถูกวิธีอย่างน้อย 30 วินาที โดยเฉพาะหลังการไอจามและขับถ่าย  ทั้งนี้ให้ระมัดระวังเรื่องการไอจาม หากรู้สึกอยากไอจามต้องออกให้ห่างคนอื่นอย่างน้อย 2 เมตร และหันหน้าไปทางตรงข้ามกับคนอื่น หากไอจามขณะสวมหน้ากากไม่ต้องเอามือปิด และไม่ต้องถอดหน้ากากเพราะเชื้ออาจติดมากับมือ แต่ถ้าไอจามตอนไม่สวมหน้ากากให้ใช้แขนด้านไหนปิดปากปิดจมูกแทน

และถ้าจำเป็นต้องเจอผู้อื่น ให้สวมหน้ากากไว้ตลอดเวลา หากใส่หน้ากากอนามัยให้ทิ้งหลังใช้ครบ 8 ชั่วโมง แต่ถ้าใช้หน้ากากผ้าให้ซักหลังใช้ครบ 8 ชั่วโมงเช่นกัน หรือเมื่อพบว่าหน้ากากเปลี่ยนชื้นมีรอยสกปรกก็เปลี่ยนทันที  ส่วนคนดูแลผู้ป่วยหากจำเป็นต้องเข้ามาหาผู้ป่วยที่ห้องต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

นอกจากนี้เสื้อผ้าเครื่องนอนต้องสะอาด ซักผ้าปูเตียง ผ้าขนหนูด้วยสบู่หรือผงซักฟอก หากใช้เครื่องซักผ้าให้ซักด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาซักผ้า ในน้ำอุณหภูมิ 60 ถึง 90 องศาเซลเซียส

ส่วนแม่ที่ยังให้นมบุตรนั้น สามารถให้นมได้ เพราะไม่มีรายงานพบเชื้อโควิดในน้ำนม แต่แม่ต้องสวมหน้ากากและล้างมือก่อนสัมผัสลูกหรือให้นม

อาการแบบไหนต้องรีบติดต่อแพทย์

อย่างไรก็ตามถ้ามีอาการดังต่อไปนี้ จะต้องรีบติดต่อแพทย์ทันที คือมีไข้สูงมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส  ท้องเสีย อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ วัดค่าออกซิเจนปลายนิ้วได้ต่ำกว่า 96%  หายใจไม่สะดวกติดขัด พูดเป็นประโยคยาวๆไม่ได้  ไอมากขึ้นแน่นหน้าอกต่อเนื่อง นอนราบไม่ได้และมีอาการซึมลงเรียกไม่รู้สึกตัวหรือไม่ตอบสนอง

 

นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติอื่นๆให้รีบติดต่อแพทย์เช่นกัน หรือมีข้อสงสัยอื่นๆให้โทรสอบถามโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยอยู่ในระบบ

จัดการขยะติดเชื้อให้ถูกวิธี

การจัดการขยะติดเชื้อ เช่น ขยะปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลัง ไม่ว่าจะเป็น หน้ากากอนามัยกระดาษทิชชู่ ภาชนะใส่อาหาร ชุดตรวจโควิด ก็มีความสำคัญจะต้องจัดการอย่างถูกวิธีเพื่อให้ทุกคนปลอดภัย โดยต้องเก็บรวบรวมขยะติดเชื้อทุกวัน ใส่ถุงขยะสองชั้น ถ้าเป็นไปได้ให้ใช้ถุงขยะสีแดงสำหรับขยะติดเชื้อ

ถุงชั้นแรกเมื่อใส่ขยะติดเชื้อเสร็จแล้วให้ราดด้วยสารฆ่าเชื้อ เช่นอแอลกอฮอล์ 70% น้ำยาฟอกขาวเพื่อทำลายเชื้อ จากนั้นมัดปากถุงให้แน่นแล้วฉีดฆ่าเชื้อบริเวณปากถุง ซ้อนด้วยถุงอีกชั้นรัดให้แน่น ฉีดฆ่าเชื้อบริเวณปากถุงและล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทันที

ส่วนผู้ป่วยจะยุติการแยกกักตัวที่บ้านได้เมื่อใดนั้น ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ผู้ดูแล แต่หลังจากที่หายป่วยแล้ว ยังต้องระมัดระวังตัวอย่างเคร่งครัดด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ และพยายามแยกตัวจากคนอื่น เลี่ยงการทำกิจกรรมร่วมกันกับคนอื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง จนครบ 1 เดือนนับจากวันที่กักตัว และหากยังไม่ได้ฉีดวัคซีนแนะนำให้ฉีด โดยเว้น 3-6 เดือนนับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ

 

ที่มา : “คู่มือการแยกกักตัวที่บ้าน” (Home isolation)  โดยกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ดาวน์โหลดฉบับเต็มhttps://www.thaihealth.or.th/Books/735/คู่มือ+การแยกกักตัวที่บ้าน+(Home+Isolation).html

/////