งานวิจัยเผย อปท.จังหวัดชายแดนใต้มุ่งเดินหน้าระบบคุ้มครองทางสังคมให้กับผู้สูงอายุมากที่สุด

งานวิจัยเผย อปท.จังหวัดชายแดนใต้มุ่งเดินหน้าระบบคุ้มครองทางสังคมให้กับผู้สูงอายุมากที่สุด ตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุสร้างทักษะอาชีพใหวังพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านผู้สูงอายุอยากมีบทบาทสืบทอดภูมิปัญญา

 

นับตั้งแต่ปี 2559 มีมาตรการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถให้การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุภายใต้กรอบสุขภาพ โดยมีบทบาทประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมมือให้บริการสังคมกับผู้สูงอายุอย่างครบวงจร

งานวิจัยเรื่อง  การศึกษาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในสังคมพหุวัฒนธรรมจังหวัดใช้แดนภาคใต้โดยรองศาสตราจารย์ไข่มุก อุทยาวลี และคณะผู้วิจัยคณะมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ 

ศึกษาการดำเนินงานส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า เป้าหมาย และนโยบายขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอยู่ในระดับปานกลาง 

เมื่อแบ่งเป็นการดำเนินงานด้านต่างๆในการดูแลผู้สูงอายุ จะพบว่า ในด้านการเตรียมความพร้อมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการดำเนินการร้อยละ 72.7 ถึงร้อยละ 90  และมีปัญหาในการดำเนินการในระดับน้อยถึงปานกลาง

ด้านการส่งเสริมและพัฒนาผู้สูงอายุมีการดำเนินการร้อยละ 39.4 ถึงร้อยละ 97 และมีปัญหาในการดำเนินการในระดับปานกลาง

ด้านระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุมีการดำเนินการร้อยละ 66.7 ถึงร้อยละ100 และมีปัญหาในการดำเนินการในระดับน้อยถึงปานกลาง

ด้านการบริหารจัดการเพื่อพัฒนามีการดำเนินการร้อยละ 81.8 ถึงร้อยละ 87.9 และมีปัญหาในการดำเนินการในระดับปานกลาง

ด้านการประมวลการติดตามประเมินผลมีการดำเนินการร้อยละ 78.8 ร้อยละ 93.9 และมีปัญหาในการดำเนินการในระดับน้อยถึงปานกลาง

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาสภาพจริงการดำเนินการด้านกิจการผู้สูงอายุในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย โดยพบว่ามีการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผ่านกิจกรรมจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ และการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสังกัด กระทรวงมหาดไทย ซึ่งบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่มีบทบาททางสังคมที่เกี่ยวข้อง คือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข

โดยมีจุดประสงค์เพื่อมุ่งส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้สูงอายุ การส่งเสริมการพัฒนาตนเอง การดูแลคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ การส่งเสริมสุขภาพที่ดีของผู้สูงอายุทางด้านร่างกายและจิตใจ ด้วยการจัดส่งเสริมกิจกรรมให้ผู้สูงอายุสร้างสรรค์ประโยชน์แก่สังคมและชุมชน รวมทั้งต้องการที่จะเสริมสร้างศักยภาพคุณค่าภูมิปัญญาผู้สูงอายุให้เป็นที่ประจักษ์และที่ยอมรับ

ขณะที่ผู้สูงอายุเองยังต้องการที่จะมีบทบาทในการสืบทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่นทางด้านภูมิปัญญาและวัฒนธรรมประเพณี ทั้งไทยพุทธและมุสลิม ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมักจัดกิจกรรมและโครงการที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของผู้สูงอายุ

นอกจากนี้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นยังมีการรวมตัวผ่านกิจกรรมนโยบาย ที่มุ่งให้ผู้สูงอายุเห็นคุณค่าในตนเอง โดยเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างกลุ่มพลังผู้สูงอายุ กลไกด้านสุขภาพส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุในท้องถิ่น ด้านการดูแลสุขภาพโดยเน้นจัดในสถานของชุมชนที่เป็นส่วนรวม เพื่อให้ผู้สูงอายุมารวมตัวทำกิจกรรม

ส่วนด้านความมั่นคงในชีวิตของผู้สูงอายุและมีหลักประกันในชีวิต คือการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือการส่งเสริมทักษะอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุ โดยกิจกรรมการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพผู้สูงอายุในพื้นที่ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสพบว่าการดำเนินกิจกรรมการส่งเสริมคุณภาพชีวิตจะมีลักษณะเด่นที่มีการบูรณาการทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอันเป็นความพึงพอใจของผู้สูงอายุในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

 

นอกจากนี้การดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงหรือผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงจะมี “Caregiver” หรือผู้ดูแล ไปให้บริการฟื้นฟูในบ้านผู้สูงอายุ

รวมไปถึงการมีโครงการดูแลผู้ป่วยติดเตียงติดบ้านโดยให้ความรู้ผู้ดูแล หลังจากเยี่ยมอาจให้ความช่วยเหลือในการปรับสภาพบ้านตามความเหมาะสม และในองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นต้นแบบจะมีกองทุนสวัสดิการผู้สูงอายุเตรียมการเพื่อรองรับสภาพปัญหาของผู้มีภาวะพึ่งพิง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของระบบการดำเนินงานดูแลระยะยาว สำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงโดยเฉพาะกลุ่มที่มีภาวะพึ่งพิง จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบการดำเนินงานดูแลระยะยาว สำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุติดเตียงติดบ้านมีสุขภาพกายสุขภาพใจที่ดี

//////////////