เปิดข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการดำเนินงานภาครัฐในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชายแดนภาคใต้ 
บทบาทของรัฐต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรสูงวัยในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และทิศทางการบริหารเชิงนโยบายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ให้ตรงกับความต้องการทางสังคมและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของผู้สูงอายุในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสิ่งสำคัญ
จากการศึกษาสถานการณ์ผู้สูงอายุในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในสังคมพหุวัฒนธรรม จังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยรองศาสตราจารย์ไข่มุก อุทยาวลี และคณะผู้วิจัย คณะมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ มีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ
โดยเห็นว่ารัฐบาลต้องเร่งกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆเพื่อรองรับสังคมสูงอายุให้รวดเร็วทันสถานการณ์ และต้องมีความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการกับระดับภูมิภาคของประเทศมากขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังคงพบว่ามีประเด็นท้าทายที่เกี่ยวข้องหลายประการ
สำหรับข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนางานด้านผู้สูงอายุพื้นที่ชายแดนภาคใต้ระยะต่อไปคือ สนับสนุนให้ผู้สูงอายุและคนทุกวัยดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีในมิติสังคมพหุวัฒนธรรม
ด้านที่อยู่อาศัยหรือบ้านผู้สูงอายุควรมีความเหมาะสมและปลอดภัยและมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อวัยสูงอายุ มีการจัดระบบบริการเคลื่อนหนุนผู้สูงอายุ และทุกช่วงวัยต้องสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะได้
มีการส่งเสริมผู้สูงอายุร่วมกิจกรรมรวมกลุ่มมีชมรมและทุกภาคส่วนเพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีอิสระของผู้สูงอายุและพึ่งพิงตนเองรวมถึงส่งเสริมแนวคิด Universal Design ไปปฏิบัติส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เหมาะสม
ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีแผนและนโยบายการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีคง “พฤฒิพลัง” ให้นานที่สุด ลดการพึ่งพา การเจ็บป่วย ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีความรอบรู้ในด้านสุขภาวะ และมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ มีการออกแบบการดูแลผู้สูงอายุและมาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุในแต่ละช่วงวัย
โดยรัฐส่งเสริมการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุในระยะการฟื้นฟู และการดูแลระยะสุดท้ายมีการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุทางสังคม จัดการโดยครอบครัวชุมชนและสังคมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้
ในระดับพื้นที่ชายแดนภาคใต้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีแผนการพัฒนาดูแลและบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ โดยอาจขอความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลรัฐในพื้นที่ช่วยสนับสนุน และรัฐต้องส่งเสริมการมีหลักประกันความมั่นคงอย่างมีส่วนร่วม ส่งเสริมการจ้างงานที่ยืดหยุ่นและการมีรายได้ การมีงานทำของผู้สูงอายุทั้งภาครัฐและเอกชน
ด้านสวัสดิการทางสังคมจะต้องครอบคลุมและส่งเสริมการมีส่วนร่วมการปกป้องคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ มีกลไกด้านกฎหมายพิทักษ์สิทธิและระบบพิทักษ์ พัฒนารูปแบบการออมตั้งแต่วัยเด็กเพื่อเตรียมความพร้อมหลังเกษียณ การพัฒนานโยบายนวัตกรรมเทคโนโลยีและความร่วมมือระหว่างประเทศ
นอกจากความจำเป็นในการวางแผนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในพื้นที่ชายแดนภาคใต้แล้ว หน่วยงานหลักในพื้นที่ โดยเฉพาะศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และหน่วยงานในเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเกี่ยวกับผู้สูงอายุควรมีการเตรียมการจัดแผนผู้สูงอายุท้องถิ่น ให้เชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้สูงอายุในระดับท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ในการพัฒนานโยบายด้านผู้สูงอายุให้ทันสถานการณ์
ทั้งนี้การพัฒนาสารสนเทศที่จำเป็น อาจลดช่องว่างในการเข้าถึงของผู้สูงอายุในการรับบริการทางสังคมและสุขภาพ รวมทั้งควรมีการพัฒนาเทคโนโลยีวัฒนธรรมที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุให้สามารถเข้าถึงและใช้งานง่าย ความร่วมมือทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดต้นทุนการพัฒนาผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ผู้สูงอายุได้ในราคาถูก โดยอาศัยฐานการผลิตจากท้องถิ่นชายแดนภาคใต้เอง
รวมไปถึงการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนงานวิจัย งานวิชาการระดับท้องถิ่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์งานด้านผู้สูงอายุการ ส่งเสริมความร่วมมือองค์กรที่ข้ามสาขาทั้งระดับภูมิภาค ระดับประเทศและระดับอาเซียน
เพื่อให้ผู้สูงอายุในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
////