เผยสถิติผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อติดตามข่าวสารได้เพียงร้อยละ 12.9

ผู้สูงอายุกับชีวิตวิถีใหม่ “New Normal” รักษาตัวให้รอดจากโควิด พบให้ความร่วมมือทำตามมาตรการป้องการการแพร่ระบาดในระดับ “ค่อนข้างดี” ออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็น เผยสถิติผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อติดตามข่าวสารได้เพียงร้อยละ 12.9

โควิด-19  ทำให้ทำให้วิถีชีวิตของเราไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะพฤติกรรม การใช้ชีวิตประจำวันจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบ New Normal ซึ่งมีความหมาย คือ ความปกติในรูปแบบใหม่

รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2563 ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลการแพร่ระบาด “ระลอกแรก” ในปี 2563  ได้ระบุถึงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ต่อการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตวิถีใหม่ปี 2563

พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่รับรู้และปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด -19 “ค่อนข้างดี” โดยกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีอายุระหว่าง 60-75ปี มีแนวโน้มปฏิบัติตนตามมาตรการได้ดีกว่ากลุ่มผู้สูงอายุที่มากกว่า 75 ปี

และเมื่อจำแนกตามมาตรการ จะเห็นว่า ผู้สูงอายุ ถึงร้อยละ 92.3 สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน ,ร้อยละ 86.1 หมั่นล้างมือด้วยสบู่และเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ  , ผู้สูงอายุร้อยละ 77.9 รับประทานอาหารโดยใช้ช้อนกลาง และร้อยละ 7.5 เว้นระยะห่างเมื่อต้องเข้าคิว

ส่วนการทำกิจกรรมนอกบ้านหรือเข้าไปในที่ชุมชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19นั้น พบว่าผู้สูงอายุมากกว่าครึ่งหรือร้อยละ 54 ระบุว่าออกไปเท่าที่จำเป็น , ร้อยละ 24.5 ระบุว่าปฏิบัติตัวเหมือนเดิม และร้อยละ 21.5 ระบุว่าทำกิจกรรมลดลง

ในด้านการใช้เทคโนโลยี พบว่าผู้สูงอายุร้อยละ 83.6 ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีจ่ายเงินแทนการใช้เงินสดในช่วงโควิดเพื่อลดการสัมผัสเชื้อโรค ซึ่งมีสัดส่วนการไม่ใช้สูงที่สุดเมื่อเทียบกับประชากรกลุ่มวัยอื่น

 

และผู้สูงอายุ 2ใน3 หรือร้อยละ 69.1 ไม่ได้ใช้งานแอพพลิเคชั่นไทยชนะ ในการลงทะเบียนเข้าออกสถานที่ ซึ่งมีสัดส่วนการไม่ใช้สูงที่สุด เมื่อเทียบกับประชากรกลุ่มวัยอื่น

และร้อยละ 89.6 ของผู้สูงอายุไม่ได้ใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์ในช่วง โควิด-19

ยังมีข้อสังเกตด้วยว่าสูงอายุที่อยู่กับบุตรหลานมีแนวโน้มจะปฏิบัติตนตามมาตรการและวิธีป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในสัดส่วนที่มากกว่าผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังหรืออยู่กับผู้สูงอายุด้วยกัน

นอกจากนี้มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ยังศึกษาถึงการรับรู้ข้อมูลข่าวสารการใช้เทคโนโลยีของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ซึ่งดำเนินการโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ร้อยละ 98.5 ผู้สูงอายุติดตามและรับฟังข่าวสาร แต่มีเพียงร้อยละ 12.9 ของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้เพื่อติดตามและรับฟังข่าวสาร โดยพบมากในผู้สูงอายุวัยต้น 60 ถึง 69 ปีในผู้ที่มีบุตรหลานในครัวเรือนและยังทำงานอยู่

ส่วนในช่วงที่มีการประกาศล็อกดาวน์ในปี 2563 นั้น พบว่ามี 3 ช่องทางหลักในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย คือ โทรทัศน์ ร้อยละ 78.6  ,คนใกล้ชิดร้อยละ 44.8 และจากผู้นำชุมชนหรืออาสาสมัครร้อยละ 38.5 ซึ่งในช่วงนี้เอง พบด้วยว่า ผู้สูงอายุที่ใช้เวลาทำกิจกรรมหน้าจอ เช่น ดูโทรทัศน์ ใช้อินเตอร์เน็ต เล่นโทรศัพท์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 โดยเฉลี่ยใช้เวลาเพิ่มขึ้นถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน โดยพบว่าผู้สูงอายุวัยต้นอายุระหว่าง 60 ถึง 69 ปีมีพฤติกรรมติดหน้าจอสูงกว่าผู้สูงอายุไว้กลางอายุระหว่าง 70 ถึง 79 ปีและผู้สูงอายุวัยปลาย 80 ปีขึ้นไป

ส่วนกิจกรรมนอกที่พักอาศัยของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย มี 4 อย่างคือการไปพบแพทย์ตามนัดหมายร้อยละ 42.5 เดินทางไปทำธุระจำเป็นร้อยละ 30 เดินทางไปเพื่อเยี่ยมญาติ หรือมีงานสังคมร้อยละ 8.3 และเดินทางเพื่อไปทำงานร้อยละ 7.7 แต่เมื่อกลับมาสู่ช่วงเปิดเมืองอีกครั้งกิจกรรมทั้ง 4 อย่างนี้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

สำหรับการบริการทางสังคมทั่วไปผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาหารเพิ่มมากขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่ทำงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15 ในช่วงปกติเป็นร้อยละ 27.1 ในช่วงล็อกดาวน์ และลดลงเหลือร้อยละ 18.2 เมื่อเข้าสู่ช่วงเปิดเมืองอีกครั้ง โดยปัญหาการขาดแคลนอาหารในช่วงล็อกดาวน์พบมากที่สุดในกรุงเทพมหานครร้อยละ 28.7 รองลงมาคือเขตชนบทร้อยละ 28.3 และเขตเมืองจังหวัดอื่นมีปัญหาน้อยที่สุดร้อยละ 22.5

 

//////////////////