สุขภาพกาย-จิตใจย่ำแย่วิกฤตที่ผู้สูงอายุต้องเผชิญในยุคโควิด19

“สุขภาพกาย-จิตใจย่ำแย่” วิกฤตที่ผู้สูงอายุต้องเผชิญในยุคโควิด19 สถิติ ชี้ มากกว่าครึ่งของผู้สูงอายุ รู้สึกวิตกกังวลทั้งเรื่อง เศรษฐกิจ-กลัวติดเชื้อ-สุขภาพแย่เพราะไม่สามารถไปหาหมอได้ตามนัด ขณะที่คนแก่รายได้น้อยเข้าถึงบริการทางการแพทย์ลดลงจากช่วงปกติ

ผลกระทบที่เกิดกับผู้สูงอายุจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ สังคม หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสุขภาพ

แม้ในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย “ระลอกแรก”เมื่อปี 2563 จำนวนการติดเชื้อและการเสียชีวิตของผู้สูงอายุในไทยมีจำนวนไม่มากเช่นการแพร่ระบาดในระลอกปัจจุบัน แต่ผู้สูงอายุได้รับผลกระทบด้านสุขภาพเป็นอย่างมาก

ปัญหาหลักนอกจากการที่ไม่สามารถไปพบแพทย์ได้ตามนัดเพื่อรักษาโรคประจำตัวแล้ว ยังพบว่าผู้สูงอายุมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตเป็นอย่างมาก

รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2563 ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลการแพร่ระบาด “ระลอกแรก” ในปี 2563  ได้รวบรวมข้อมูลจากการศึกษาสถานการณ์ในช่วงดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ

โดยผลการศึกษาของ UNFPA Thailand ซึ่งดำเนินการโดยวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สำรวจผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อประชากรสูงอายุในประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 1,230 รายในเดือนกรกฎาคมปี 2563 พบว่า 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุมีอาการทางสุขภาพจิตอย่างน้อยหนึ่งอาการในช่วงโควิด-19

ผู้สูงอายุถึงร้อยละ 57.2 มีความวิตกกังวล ,ร้อยละ 47.3 ไม่อยากอาหาร ,ร้อยละ 25 รู้สึกเหงา และร้อยละ 23.3 ไม่มีความสุข

โดยเรื่องที่ผู้สูงอายุวิตกกังวลมากที่สุด 3 อันดับ คือ ผลกระทบด้านการเงินทั้งของตนเองและครอบครัว  ถึงร้อยละ 41 , กลัวว่าตนเองหรือสมาชิกในครอบครัวจะติดเชื้อ ร้อยละ 28 และสุขภาพที่อาจแย่ลงเนื่องจากการผิดนัดกับแพทย์ ร้อยละ 18

 

และหากพิจารณามิติของความอยู่ดีมีสุขในด้านต่างๆจะพบว่าผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจิตในช่วงวิกฤติโควิด-19 มากกว่าผู้สูงอายุที่อยู่ในเขตชนบท

ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยนั้น พบว่า 3 ใน4 ของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย มีโรคประจำตัว (ไม่ติดต่อเรื้อรัง) โดยส่วนใหญ่เป็น โรคความดันสูง ร้อยละ 75.7  โรคไขมันในเลือดสูง ร้อยละ 40.2 และโรคเบาหวาน ร้อยละ 30.2

และเมื่อไปพิจารณาถึงในการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 86.5 มีสิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) , ร้อยละ 6.6 สิทธิรักษาพยาบาล , ร้อยละ 3.7 สิทธิประกันสังคม, ร้อยละ 3.2 สิทธิอื่นๆ

โดยในช่วง “ปิดเมือง” หรือ ล็อกดาวน์ในการแพร่ระบาดระลอกแรก พบว่าการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยมีสัดส่วนลดลงร้อยละ 7.7 และมีเพียงผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยร้อยละ 3.5 ที่เข้ารับการตรวจหาเชื้อ โควิด-19

อย่างไรก็ตามมาตรการล็อกดาวน์ และให้ผู้สูงอายุอยู่แต่ในที่พักอาศัย ทำให้ผู้สูงอายุเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบแผนการดำรงชีวิตอาจส่งผลต่อภาวะสุขภาพจิตของผู้สูงอายุได้ และยังพบว่าในช่วงล็อกดาวน์นี้ผู้สูงอายุได้รับผลกระทบทางจิตใจมากกว่าในช่วงสถานการณ์ปกติ โดยรู้สึกกังวลเพิ่มขึ้น รู้สึกเครียด และมีปัญหานอนไม่หลับ เพราะมีสาเหตุมาจากเรื่องรายได้ของผู้สูงอายุที่ลดลง

นอกจากนี้ยังพบว่า 2 ใน 3 ของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ไม่มีวิธีการรับมือกับความรู้สึก หรือจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตของตนเองแต่อย่างใด

 

/////

ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยปี2563สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่ลิงค์แนบนี้

รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ปี 2563