ผู้สูงวัยรายได้น้อยเกือบครึ่งเข้าไม่ถึงโครงการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ของรัฐ

ผู้สูงวัยรายได้น้อยเกือบครึ่ง เข้าไม่ถึงโครงการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ของรัฐ เหตุ ให้ลงทะเบียนผ่านออนไลน์ เกิดช่องว่างทางเทคโนโลยี

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อให้เกิดความไม่สะดวกหลายประการต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ ภาครัฐโดยการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้มีมาตรการเพื่อช่วยเหลือเฉพาะหน้าแก่ผู้สูงอายุในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจปากท้อง

ในรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2563 ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลการแพร่ระบาด “ระลอกแรก” ในปี 2563  โดยระบุถึงมาตรการช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุด้านเศรษฐกิจ ว่า รัฐบาลได้ดำเนินการจ่ายเงินเยียวยา แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายโครงการ

ทำให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือทางด้านรายได้ โดยแบ่งเป็นความช่วยเหลือในโครงการต่างๆสำหรับผู้สูงอายุสองกลุ่ม คือกลุ่มผู้สูงอายุทั่วไป และกลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย

โดยในกลุ่มผู้สูงอายุทั่วไป คือ โครงการคนละครึ่ง

ส่วนผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย มีมาตรการชดเชยรายได้ให้กับลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบอื่นๆของการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยสนับสนุนเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือนระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2563 โดยใช้กรอบวงเงินในการดำเนินโครงการจำนวน 240,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถรองรับผู้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคัดกรองของมาตรการได้สูงสุดถึง 16 ล้านคน

นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มผู้เปราะบาง ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด โดยมีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งในกลุ่มผู้สูงอายุนี้มีจำนวน 3,983,685 ราย ได้รับการจ่ายเงินเยียวยารายละ 1,000 บาทเป็นระยะเวลา3เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นการเพิ่มจากเงินอุดหนุนจากที่ได้รับอยู่แล้ว

ขณะเดียวกันยังมีโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ  โดยกระทรวงการคลังลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณ 14.5 ล้านคนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยให้วงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นจากร้านธงฟ้าในราคาประหยัดจำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา6เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ถึงเดือนมีนาคม 2564

อย่างไรก็ตามวิธีการเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือของภาครัฐ ในโครงการความช่วยเหลือ 5,000 บาท ที่ต้องลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ อาจเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถเข้าถึงบริการดังกล่าวได้ ถือเป็นช่องว่างทางเทคโนโลยีที่เป็นอุปสรรคหนึ่งในการเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือภาครัฐจากรัฐบาล

จากการศึกษาของ UNFPA Thailand พบว่าร้อยละ 75 ของผู้สูงอายุได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐในช่วง โควิด-19

ขณะที่ผลการศึกษาของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุพบว่าร้อยละ 93 ของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยได้รับเงินช่วยเหลือผ่านโครงการเยียวยาผลกระทบ โควิด-19 จากรัฐบาล แต่ทว่ามีผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยเพียงร้อยละ 51.1 ได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 5,000 บาทเป็นเวลา3 เดือน ในขณะที่ร้อยละ 42 ได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 1,000 บาทเป็นเวลา3 เดือน

//////////////////

ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยปี2563สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่ลิงค์แนบนี้

รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ปี 2563